ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า พื้นที่ทางการคลังที่มีจำกัดขึ้น ส่งสัญญาณถึงความสำคัญในการบริหารจัดการการคลังที่เหมาะสม เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า โดยนับตั้งแต่หลังช่วงโควิด-19 พื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ของไทยลดลงอย่างมาก ส่งผลให้การดำเนินนโยบายทางการคลังเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจมีจำกัดมากขึ้น
พื้นที่ทางการคลังไทยในกรอบงบประมาณ มาจากการขาดดุลงบประมาณประจำปี ซึ่งกรอบกฎหมายกำหนดไว้ที่ 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และ 80% ของงบประมาณสำหรับชำระเงินต้นกู้ หากรัฐบาลมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ รัฐบาลสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้ (รูปที่ 1) ทั้งนี้ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่อง แต่พื้นที่การคลังยังเหลือพอที่จะขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อนำมาดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับแต่ละช่วงเวลา
ในปี 2568 ไทยแทบไม่เหลือพื้นที่การคลัง โดยไทยขาดดุลงบประมาณประจำปีเข้าใกล้กรอบกฎหมายนับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา สะท้อนข้อจำกัดในการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมต่างจากในอดีต เนื่องจากไทยมีงบประมาณรายจ่ายที่เป็นภาระผูกพัน ไม่สามารถปรับลดได้ อาทิ เงินเดือน/ค่าจ้าง และการชำระหนี้คงค้าง ซึ่งมีสัดส่วนราว 23% และ 10% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ตามลำดับ ส่งผลให้รัฐบาลจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลสูงถึง 4.5% ของ GDP ในปีเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นเร่งด่วนซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รัฐบาลยังมีพื้นที่การคลังจากแหล่งเงินกู้นอกงบประมาณ ซึ่งมีกรอบเพดานหนี้สาธารณะเพื่อรักษาวินัยทางการคลัง โดยที่ผ่านมามีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อกู้เงินรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจอยู่หลายครั้ง และล่าสุดการออก พ.ร.ก. กู้เงินจำนวน 1.5 ล้านล้านบาทในปี 2563-2564 เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หนี้สาธารณะไทยเพิ่มขึ้นมาก และมีการขยับเพดานหนี้สาธารณะมาอยู่ที่ไม่เกิน 70% จาก 60% ในปี 2564
หนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ระดับ 64.1% ของ GDP ในเดือนม.ค.2568 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า แนวโน้มหนี้สาธารณะของไทยจะแตะระดับเพดานที่ 70% ต่อ GDP ในปี 2570 แม้ว่าแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569-2572) ระบุว่ารัฐบาลมีแผนจะขาดดุลงบประมาณลดลง แต่ระดับหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับสูง ในขณะที่เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าหลังโควิด-19 ท่ามกลางประเด็นเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ชะลอลง
หากจะขยับเพดานหนี้สาธารณะขึ้น ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนทางการคลัง และความเสี่ยงต่อการปรับลดมุมมองอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating) ซึ่งจะส่งผลมายังต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า ยกตัวอย่าง โครเอเชียและไซปรัสซึ่งเคยมีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ BBB+ เช่นเดียวกับไทย (S&P Global) ได้รับการปรับอันดับขึ้นเป็น A- ในช่วงปลายปี 2567 จากฐานะการคลังที่ดีขึ้น สะท้อนจากระดับหนี้สาธารณะที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีพื้นที่การคลังผ่านการดำเนินกิจกรรมกึ่งการคลัง (Quasi fiscal) โดยให้หน่วยงานของรัฐรับภาระในการดําเนินมาตรการตามที่รัฐบาลกำหนด แต่ต้องอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของหน่วยงานรัฐนั้นๆ โดยรัฐบาลต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือรายได้ที่สูญเสียไปของหน่วยงานรัฐนั้น ซึ่งยอดคงค้างที่รัฐต้องชดเชยถูกกำหนดไว้ไม่เกิน 32% ของงบประมาณประจำปี โดยในปี 2568 รัฐบาลประมาณการไว้ราว 1.03 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 27.4% ของประมาณ
โดยสรุป พื้นที่การคลังไทยลดลงมากจากช่วงวิกฤตโควิด-19 อีกทั้ง ไทยยังจำเป็นต้องขาดดุลการคลังในระดับสูง จากภาระงบประมาณมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพื่อรับมือการเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-aged society) และความเสี่ยงเศรษฐกิจในอนาคต ดังนั้น ไทยควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่การคลัง โดยบริหารจัดการการคลังอย่างเหมาะสม เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณกลับสู่ระดับปกติ (Fiscal Consolidation) และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ