นายคริชาน โกพอล นักวิเคราะห์ สภาทองคำโลก หรือดับเบิลยูจีซี (WGC) เปิดเผยว่า ธนาคารกลางจีนแผ่นดินใหญ่ซื้อทองคำแท่งสุทธิสะสมในทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อเดือนมกราคมผ่านไปจำนวน 10 เมตริกตัน ส่งผลนับเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกันที่ธนาคารจีนแผ่นดินใหญ่ซื้อทองคำแท่งต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จำนวนทองคำแท่งที่ซื้อในเดือนผ่านไปมีจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณการซื้อเฉลี่ยในรอบ 1 ปี 2 เดือน หรือนับตั้งแต่พฤศจิกายน 2022
สำหรับทองคำแท่งสะสมในทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศจีนแผ่นดินใหญ่จนถึงเดือนมกราคมผ่านไปมีจำนวนสะสมเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นจำนวนเกือบ 300 เมตริกตันที่มากกว่าช่วงสิ้นสุดเดือนตุลาคม 2022 นักวิเคราะห์ประเมินว่า จีนแผ่นดินใหญ่จะยังคงซื้อทองคำแท่งสะสมในทุนสำรองระหว่างประเทศต่อเนื่อง ปัจจุบันนี้ จีนแผ่นดินใหญ่มีทองคำแท่งราว 4% ของทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวต่ำกว่าสัดส่วนทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางในประเทศที่พัฒนาแล้ว
ในปี 2023 ผ่านไป ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำแท่งสะสมในทุนสำรองระหว่างประเทศของแต่ละประเทศรวมกันเป็นจำนวน 1,037 เมตตริกตัน ทำสถิติมากเป็นอันดับ 2 รองจากในปี 2022 ที่มีสถิติมองคำแท่งสะสมรวมกันที่ 1,082 เมตตริกตัน ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 74 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา
โดยเฉพาะธนาคารกลางจีนแผ่นดินใหญ่ซื้อทองคำแท่งสุทธิสะสมในทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อปี 2023 อยู่ที่ 225 เมตริกตัน หรือเพิ่มขึ้นมากถึง 30% จากปี 2022 และทำสถิติมากที่สุดในรอบ 47 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1977 เป็นต้นมา สาเหตุจากธนาคารจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มน้ำหนักการถือครองทองคำแท่งมากขึ้น เพื่อลดการถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางความขัดแย้งด้านการเมืองระหว่างประเทศกับสหรัฐอเมค นอกจากนี้ ประชาชนชาวจีนทั่วไป รวมถึงนักลงทุนาวจีนล้วนซื้อทองคำเพื่อถือครองมากขึ้นจากความกังวลในภาวะเศรษฐกิจจีนแผ่นดินใหญ่ที่ซบเซาต่อเนื่องจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ครั้งใหญ่
กระทรวงการคลัง สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2023 ผ่านไป ธนาคารกลางจีนแผ่นดินใหญ่ขายสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐออกเป็นมูลค่า 782,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 28.15 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังเป็นมูลค่าขายยอกที่ลดต่ำกว่า 10% จากมูลค่าในปี 2022
ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลก ซื้อทองคำแท่งในปี 2023 มาจากสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์หลายแห่งที่ขัดแย้งรุนแรงจนนำไปสู่การเกิดภาวะโจมตีและก่อสงครามของคู่ขัดแย้ง ได้แก่ สงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสติดอาวุธในดินแดนปาเลสไตน์ สงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อมานานเข้าสู่ปีที่ 3 ในปี 2024 นี้