นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลกระทบการปรับภาษีสินค้านำเข้า (Reciprocal Tariffs) ต่อเศรษฐกิจไทยว่าเดิมมองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ 2.5% บวกเล็กน้อยจากประมาณการเดิม 2.9% แต่จากผลกระทบการปรับภาษีสินค้านำเข้า (Reciprocal Tariffs) นั้น ส่งผลต่อจีดีพีต้องปรับลดลงแน่นอน น่าจะต่ำกว่า 2.5% แต่ผลของการขึ้นภาษีจะมาในช่วงครึ่งหลังของปี แบงก์ชาติต้องรอดูพัฒนาการหลังจาก 90 วัน ซึ่งตัวเลขผลกระทบไม่น้อย แต่ไม่แรงเท่าโควิด-19 ขึ้นอยู่กับผลของภาษีและผลของการเจรจา
ผลกระทบจะส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทยในหลายช่องทาง และใช้เวลากว่าจะเห็นผลที่ชัดเจน ในระยะสั้น ตลาดการเงินผันผวนขึ้น เริ่มเห็นการผลิต การค้า และการลงทุนบางส่วนชะลอเพื่อรอความชัดเจน ความรุนแรงของผลกระทบจะขึ้นกับภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บเทียบกับประเทศคู่ค้า และการตอบโต้ระหว่างประเทศเศรษฐกิจหลักและสหรัฐ ซึ่งผลต่อเศรษฐกิจการเงินไทยจะมีผ่าน 5 ช่องทางหลัก ได้แก่
1. ตลาดการเงิน ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลกและไทยผันผวนมากขึ้น โดยรวมสภาพคล่องและกลไกการทำธุรกรรมยังเป็นไปตามปกติ ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากช่วงก่อนวันที่ 2 เมษายน เล็กน้อย (2.71% ณ 12.00 น. 17 เม.ย. 68 เทียบกับเงินเยน และเงินวอนที่แข็งค่าขึ้น 4.75% และ 3.11% ตามลำดับ) สอดคล้องกับภูมิภาค ตามค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนเร็วจากความกังวลต่อผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ส่วนตลาดหุ้นปรับลดลงสอดคล้องกับภูมิภาค
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่เห็นการทำธุรกรรมที่ผิดปกติจากกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ในส่วนของภาวะการระดมทุนผ่านหุ้นกู้โดยรวมยังเป็นปกติ ทั้งนี้ เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี ไทยมีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศระยะสั้นน้อย
2. การลงทุน ความไม่แน่นอนที่ยังสูงต่อเนื่อง ทำให้การตัดสินใจทางธุรกิจและการลงทุนชะลอออกไป โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปสหรัฐเป็นหลัก (อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และยานยนต์) ซึ่งเริ่มเห็นผลดังกล่าวบ้างแล้ว จากการพูดคุยผู้ประกอบการ 18 ราย พบว่ามีการชะลอการผลิตและการลงทุน ส่วนหนึ่งชะลอดูหลัง 90 วัน ว่าเขาจะต้องเจอภาษีเพิ่มขึ้นเท่าไร และมีการชะลอการลงทุนด้วย ทั้งนี้ หากดูการขอรับส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเห็นเม็ดเงินลงทุนในอีก 1 ปีข้างหน้า โดยใน 5 อุตสาหกรรมหลักคิดเป็น 7.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 8% ของบีโอไอทั้งหมด หรือคิดเป็น 3% ของการลงทุนเอกชน
3. การส่งออก เป็นช่องทางหลักที่ได้รับผลกระทบจากภาษี แต่ยังมีความไม่แน่นอนของนโยบายภาษี เพราะมีการชะลอการบังคับใช้ออกไป 90 วัน จึงคาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป และน่าจะเห็นการเร่งส่งออกในไตรมาสที่ 2/68 เช่น อาหารแปรรูป การส่งออกไทยไปสหรัฐคิดเป็น 18% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และคิดเป็น 2.2% ของจีดีพี เซ็กเตอร์หลัก ๆ ที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหารแปรรูป นอกจากนี้ จะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลก ที่ผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐด้วย (ยาง ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก และเคมีภัณฑ์ คิดเป็นประมาณ 4.3% ของการส่งออกไทย)
4. การแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้น สินค้าไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ที่ส่งออกไปสหรัฐได้น้อยลง และหันมาส่งออกไปยังตลาดเดียวกับไทย รวมถึงส่งมายังไทย โดยเฉพาะหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โลหะ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาในภาคการผลิตที่มีอยู่เดิม
5. เศรษฐกิจโลกที่จะชะลอลง การส่งออกโดยรวม และรายรับการท่องเที่ยวอาจถูกกระทบจากเศรษกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจะปรับลดลง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าและเงินเฟ้อของไทยชะลอลงจากปัจจัยด้านอุปทาน