เพอร์รี วาร์จิโย ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) คาดการณ์เมื่อวันพุธ (23 เม.ย.) ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้จะชะลอตัวลงต่ำกว่าค่ากลางของการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 4.7-5.5% อยู่เล็กน้อย เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ
โดยนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ อาจทำให้สินค้าส่งออกของอินโดนีเซียเป็นที่ต้องการจากต่างประเทศลดลง และทำให้การค้ากับประเทศคู่ค้าอ่อนแอลง
พร้อมกันนี้ ผู้ว่าการแบงก์ชาติอินโดนีเซียยังกล่าวเสริมด้วยว่า เพื่อเป็นการรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้ ธนาคารกลางกำลังเสริมมาตรการนโยบายการเงินและมาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ (macroprudential policy) ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ แบงก์ชาติอินโดนีเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.75% ในการประชุมวานนี้ เพื่อปกป้องเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพของเงินรูเปียห์
แม้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะเปิดช่องให้สามารถปรับลดดอกเบี้ยได้ แต่ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังคงตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมในการประชุมครั้งที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจากธนาคารมุ่งไปที่การสนับสนุนค่าเงินรูเปียห์ และต้องการรอดูว่ามาตรการภาษีของสหรัฐฯ จะพัฒนาไปในทิศทางใด
ทั้งนี้ เงินรูเปียห์ร่วงลงมาอยู่ที่ 16,868 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันที่ 8 เม.ย. ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยลดลงมากกว่าในช่วงวิกฤตการเงินเอเชียเมื่อปี 2540 และการระบาดของโควิด-19