นายสักกะภพ พันธยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในอนาคตมีความเป็นไปได้ 70-80% ที่จะเกิด 2 กรณี ซึ่งจะเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจนตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป
อย่างแรกเป็นกรณีที่สหรัฐฯ เก็บภาษีกับทุกประเทศที่ 10% เหมือนในช่วงผ่อนผัน 90 วันขณะนี้ไปเรื่อยๆ และสหรัฐกับจีนเจรจาลดภาษีลงอยู่ที่ 5% จะกระทบการส่งออกของไทยใน 12 เดือนข้างหน้า หรือตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 68 ถึงไตรมาส 2 ปี 69 ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ส่งออกปี 68 ขยายตัว 0.8% ส่วนปี 69 จะหดตัว 2.8% การลงทุนของเอกชนจะชะลอลงด้วย ทำให้คาดว่าปี 68 นี้ จะติดลบ 1% เศรษฐกิจไทยทั้งปี 68 จะขยายตัว 2% เงินเฟ้อจะลดลงมาที่ 0.5%
อย่างสุดท้าย กรณีที่สหรัฐเก็บภาษีต่างตอบแทน หรือ Reciprocal Tariffs โดยอยู่บนสมมติฐานว่าทุกประเทศเจรจากับสหรัฐฯ และลดอัตราภาษีที่จะเก็บจากเพดานเดิมที่เคยประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เมษายนลงมาได้ครึ่งหนึ่ง นั่นหมายถึง อัตราภาษีของไทยจะอยู่ที่ 18% (จากเพดาน 36%) บวกอัตราภาษีเดิมที่ 1.7% ขณะที่จีนจะถูกเก็บภาษีที่ 70% หากเป็นแบบนี้ ส่งออกไทยใน 12 เดือนข้างหน้าจากนี้ไป หรืออีก 4 ไตรมาสข้างหน้า จะติดลบ 8% ซึ่งจะมากกว่าช่วงโรคโควิด-19 ที่ติดลบ 6% มีผลให้การส่งออกปี 68 นี้ ติดลบ 1.3% และปี 69 จะติดลบ 8% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปี 68 นี้ติดลบ 4.7% ทำให้ทั้งปี 68 เศรษฐกิจขยายตัวต่ำที่ 1.3% ด้วยเงินเฟ้อลดลงมากที่ 0.2%
นายสักกะภพ พันธยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน กล่าวต่อไปว่า หากให้เลือก มองว่าอย่างแรกจะเกิดขึ้นได้มากกว่าอย่างที่สอง เพราะการคงภาษีนำเข้าสูงมากนั้น จะทำให้สหรัฐจะแย่ และจะเข้าสู่ภาวะถดถอย สำหรับไทยอาจถูกภาษีมากกว่า 10% ก็เป็นไปได้ ซึ่งผลกระทบจะมากกว่าอย่างแรก หรือโดนมากกว่า 20% ก็ได้ ซึ่งต้องเทียบกับประเทศคู่แข่งว่าโดนภาษีเท่าไร อย่างไรก็ตาม แม้ในกรณีเลวร้ายที่แบงก์ขาติทำไว้ เศรษฐกิจไทยปี 68 นี้ อาจจะโตต่ำมากๆ แต่ยังไม่ถึงขั้นโตติดลบ เพียงแต่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะซึมๆ ฟื้นตัวช้าๆ ต่อเนื่อง โดยภาคส่งออกไปสหรัฐฯ และภาคที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบหนักที่สุด แรงงานส่วนนี้อาจจะตกงานเพิ่มขึ้นบ้าง และจะมีผลกระทบจากการสินค้านำเข้าราคาถูกที่จะเข้ามาแย่งตลาดผู้ประกอบการไทยมากขึ้น