วารสารพระสยาม ธนาคารแห่งประเทศไทย นำเสนอบทความชื่อว่า ชีวิตหนี้คนไทย เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี มีดังนี้ ในปี 2537 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เพลง “ชีวิตหนี้” เผยแพร่สู่สาธารณะ ตอนนั้นหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 40% เท่านั้น แต่เพลงก็โดนใจคนไปทั้งประเทศแล้ว หากย้อนกลับไปดูบริบทช่วงนั้น แม้เศรษฐกิจไทยจะยังอยู่ในยุคทองก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 แต่โจทย์ใหญ่ของประเทศตอนนั้นคือ การแก้ปัญหาความยากจนในประเทศ ในช่วงเวลานั้นรายได้ต่อหัวเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 90,000 บาทต่อปีเท่านั้น คนที่ใช้ชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน (น้อยกว่า 828 บาทต่อเดือน) ในช่วงเวลานั้น ยังมีมากกว่า 10 ล้านคน หรือคิดเป็น 19% ของประชากรทั้งประเทศ
เวลาผ่านไปเกือบ 30 ปี เศรษฐกิจและสังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างมาก แม้คนไทยจำนวนมากจะยังไม่ได้เกิดมาบนกองทอง แต่คุณภาพชีวิตโดยรวมของคนไทยก็ยกระดับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2566 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 280,000 บาทต่อปี จำนวนคนยากจน (ภายใต้เส้นความยากจนที่ 2,802 บาทต่อคนต่อเดือน) ลดลงเหลือราว 4 ล้านคน หรือคิดเป็น 5.43% ของประชากรไทย
อย่างไรก็ตาม ชีวิตของคนไทยก็ยังคงเป็น “ชีวิตหนี้” อยู่ เพียงแต่ว่า “ชีวิตหนี้” ของคนไทยทุกวันนี้ กลับมีลักษณะและความน่ากังวลที่แตกต่างออกไปจากเดิม หนี้ครัวเรือนไทยเป็นอย่างไรในปัจจุบัน โดยในปี 2566 หนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพี อยู่ที่ระดับกว่า 90% นับเป็นอัตราส่วนที่สูงในช่วงการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ของไทย
นอกจากนี้ “ความเยอะ” ของหนี้ครัวเรือนไทยสามารถแบ่งได้เป็น 3 มิติ
(1) คนไทยจำนวนมากมีหนี้ โดยประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรมีหนี้ในระบบ (2)คนไทยมีหนี้สูง โดยมูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 539,291 บาท และ(3) คนไทยมีหนี้หลายบัญชี โดยเฉลี่ย 3.3 บัญชี อันที่จริง การมีหนี้เยอะไม่ได้เป็นปัญหาในตัวเอง แต่ขึ้นอยู่กับลักษณะของการเป็นหนี้ด้วย โดยทั่วไปเราสามารถแบ่งหนี้ได้เป็นสองแบบคือ หนี้ที่สามารถสร้างรายได้ หรือ “หนี้ดี” และ หนี้ที่อาจไม่สร้างรายได้ หรือ “หนี้พึงระวัง”
ข่าวร้ายของเศรษฐกิจไทยมีอยู่ว่า กว่า 67% ของหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ของไทยเป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ และกว่า 1 ใน 5 ของผู้ที่เป็นหนี้กำลังมีหนี้เสีย นอกจากนี้ กลุ่มวัยเริ่มทำงาน (อายุ 20-35 ปี) ยังมีสัดส่วนหนี้อาจไม่สร้างรายได้สูงที่สุด และมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงที่สุดด้วย (27%) อีกทั้งเกษตรกรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็มีความเสี่ยงสูงที่อาจจะชำระหนี้ไม่ได้ และต้องตกอยู่ในวังวนของหนี้
ความสัมพันธ์ระหว่าง “การเป็นหนี้” กับ “เศรษฐกิจภาพใหญ่” ไม่เคยตรงไปตรงมา เพราะการเป็นหนี้ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจแย่เสมอไป หลายคนคงทราบดีอยู่แล้วว่า “หนี้ดี” นั้นมีศักยภาพที่จะนำมาซึ่งการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต ในหลายประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้บ้านและหนี้เพื่อการลงทุน ซึ่งมักจะเป็น “หนี้ดี” แม้กระทั่ง “หนี้พึงระวัง” กับ “เศรษฐกิจภาพใหญ่” ก็ไม่ได้ตรงไปตรงมาเช่นกัน แต่ขึ้นอยู่กับบริบทในการกู้ยืม เช่น การกู้ในภาวะวิกฤต ซึ่งมีความจำเป็นและช่วยประคับประคองให้ผ่านภาวะที่ยากลำบากที่สุด อาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว หากช่วยให้ผู้กู้กลับมาตั้งหลักใหม่ในชีวิตได้
ในขณะที่การกู้เพื่อการบริโภค เอาเข้าจริงแล้วก็อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ด้วยซ้ำ แต่ที่ใช้คำว่า “พึงระวัง” เพราะในระยะยาวแล้วอาจส่งผลเสียต่อทั้งตัวผู้กู้ และเศรษฐกิจภาพใหญ่ได้ กล่าวคือ ภาวะหนี้ครัวเรือนระดับสูงอาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะรายได้ส่วนใหญ่ต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้แทนการเอาไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ หรือลงทุน ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ไม่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่กำลังมีปัญหาเชิงโครงสร้างจากการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันและการขาดแคลนแรงงานเนื่องจากเข้าสู่สังคมสูงวัย จนทำให้ศักยภาพในการเติบโตลดต่ำลง
นอกจากนี้ การมีหนี้ที่อาจไม่ก่อให้เกิดรายได้ในสัดส่วนที่สูงยังสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน กล่าวคือ หากลูกหนี้จำนวนมากชำระหนี้ไม่ได้พร้อมๆ กัน ก็อาจกระทบฐานะการเงินของเจ้าหนี้ นั่นก็คือ สถาบันการเงิน ที่สำคัญที่สุดคือ การติดหล่มอยู่ในกับดักหนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อความสุขและคุณภาพชีวิตลูกหนี้โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาสุขภาพจิตของลูกหนี้ ซึ่งหากปัญหามีความรุนแรงมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่จะตามมา
ธปท. ได้จัดทำ “แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย ช่วยลูกหนี้ต่อเนื่องด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ช่วยลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบางให้สามารถปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี คุ้มครองสิทธิลูกหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น มาตรการช่วยเหลือของ ธปท. ที่ครอบคลุมหลายกลุ่ม จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ลูกหนี้มีทางออก เพื่อให้ชีวิตหนี้ของคนไทยไม่เป็นเหมือนท่อนฮุกของเพลง “ชีวิตไม่สิ้น ก็คงต้องดิ้นกันไป” เพราะชีวิตนี้ “ไม่จำเป็นต้องใช้หนี้อย่างเดียว” อีกต่อไป