ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ เปิดเผยรายงานผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจเฉพาะกิจ หรือ BSI Special ประจำเดือน พ.ค. 2567 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ทั้งในภาคการผลิต และภาคที่มิใช่การผลิตมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ มีราว 1 ใน 3 หรือ 33% ที่มีสภาพคล่องที่ค่อนข้างตึงตัว แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถดำเนินธุรกิจได้
อย่างไรก็ตาม กลุ่มก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงกลุ่มผลิตอโลหะ (ผลิตภัณฑ์เซรามิกและคอนกรีต) มีสัดส่วนที่เผชิญปัญหาสภาพคล่องและอาจมีผลต่อการดำเนินกิจการ มากกว่ากลุ่มอื่น สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อสถานะสภาพคล่องของธุรกิจในไทย ได้แก่ อันดับที่ 1 คือ รายได้ของธุรกิจ อันดับ 2 การชำระเงินของลูกค้า อันดับ 3 ต้นทุน และอันดับ 4 ภาระดอกเบี้ย
ผลสำรวจ พบว่า กว่า 70% ของธุรกิจมีระดับภาระหนี้สินต่อค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อเดือนไม่เกิน 10% ทั้งในภาคการผลิตและภาคที่ไม่ใช่การผลิต หากแยกประเภทธุรกิจ จะพบว่า ผู้ประกอบการที่มีสัดส่วนภาระหนี้สินสูงกว่ากลุ่มอื่น คือ กลุ่มผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์
ด้านผลกระทบจากสินค้าจีนนั้น พบว่า ธุรกิจราว 70% ไม่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าจีนเข้ามาแข่งขันในไทย ส่งผลให้ราคาโดยรวมยังคงเดิม แต่ยกเว้นธุรกิจการค้า การผลิตเหล็กและอโลหะ (ผลิตภัณฑ์เซรามิกและกระเบื้อง) ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากและกว่า 50% ต้องปรับราคาสินค้าลง
ภาคการส่งออกนั้น ในภาพรวมธุรกิจส่งออกของไทย คาดการณ์ว่า การส่งออกในไตรมาส 2 ปีนี้ มีแนวโน้มลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย เกือบทุกธุรกิจคาดว่า การส่งออกจะหดตัว ซึ่งสะท้อนจากดัชนี Diffusion Index ที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ยกเว้นธุรกิจผลิตเหล็ก โลหะและยานยนต์ รวมถึงการค้า ที่คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย