นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าความเสี่ยงที่ไทยถูกสหรัฐอเมริกาจัดเก็บอัตราภาษีสูงกลายเป็นปัจจัยใหญ่และมีนัยต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคตค่อนข้างมาก ในขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกยังขยายตัว จากแรงส่งเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ด้วยผลพวงของการเร่งส่งออก อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ภาคส่งออกไทยจะติดลบมีส่เป็นหนึ่งในปัจจัยน่ากังวล สอดรับกับการลงทุนมีโอกาสขยายตัวในทิศทางติดลบ ด้านภาคการท่องเที่ยวมีความท้าทายมากกว่าที่เป็นมา รวมถึงการบริโภคที่ขยายตัวต่ำกว่าที่ผ่านมามาก ดังนั้น เมื่อมองไปข้างหน้ามีความไม่แน่นอนมาก ทั้งพัฒนาการ และมีโอกาสเกิดช็อก ซึ่งไม่ทราบมาจากไหน เป็นภาพเศรษฐกิจรวมของไทย
นางสาวบัณณรี ปัณณราช ผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้านั้น จะชะลอการขยายตัวลงต่ำกว่า 2% เป็นอย่างน้อย 1 ปี 6 เดือน ผลกระทบหลักๆ จากการส่งออกหดตัวอย่างรุนแรงจามาตรการภาษีสหรัฐ แต่ยังมีความไม่แน่นอน ที่ยังต้องติดตามเป็นระยะ
ถึงแม้ว่าในครึ่งปีแรกที่เศรษฐกิจไทยซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 2.9% สาเหตุมาจากการส่งออกรีบเร่งส่งออกเพื่อหวังลดผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐ แต่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 68 คาดว่าจะชะลอตัวอย่างรุนแรง ทำให้มองว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 1.6% ส่งผลให้ทั้งปี 68 ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมองเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.3% อย่างไรก็ตาม ในปี 2569 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 1.7% จากปัจจัยลบของการส่งออกที่คาดว่าจะติดลบ 2% การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 1.7% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวแต่ชะลอลงอยู่ที่ 0.9%
ภาคการท่องเที่ยวนั้น การลดลงของนักท่องเที่ยวชาวจีนเริ่มทรงตัว อย่างไรก็ตาม การฟื้นความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยด้านท่องเที่ยวในไทยของคนจีนยังต้องใช้เวลา คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยปี 2568-2569 จะเติบโตเฉลี่ยที่ 3.5% ซึ่งต่ำกว่าประมาณการการเติบโตภาคการท่องเที่ยวโลก ที่เฉลี่ย 5% รายรับจากนักท่องเที่ยวขยายตัวก็จริง แต่การกระจายเม็ดเงินอาจไม่ทั่วถึง นักท่องเที่ยวระยะไกลมีสัดส่วนการใช้จ่ายในหมวดที่พักเกือบ 40% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มระยะใกล้ที่ใช้จ่ายหมวดที่พัก 1 ใน 3 และสัดส่วนช้อปปิ้งมากกว่า 1.6 เท่า ที่สำคัญ ยังคงเดินทางท่องเที่ยวกระจุกใน 6 เมืองหลักของไทย
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่าภาวะการเงินยังตึงตัว สินเชื่อที่หดตัวส่วนหนึ่งมาจากการชำระคืนหนี้ และความต้องการสินเชื่อที่ลดลง สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงท่ามกลางคุณภาพสินเชื่อไม่ปรับดีขึ้น สำหรับนโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ความสำคัญของจังหวะเวลาและประสิทธิผลของนโยบายการเงินภายใต้บริบทที่มีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องนึกถึงขีดความสามารถในการรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด