แบงก์ชาติ ชี้เศรษฐกิจไทย พ.ย. โตชะลอลง ตามการบริโภคเอกชน ลงทุนลดลง หลังมาตรการแจกเงินหมื่นหมดแรงส่ง สารพัดปัจจัยกดดัน

น.ส.ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ย.67 ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนลดลง หลังจากที่เร่งไปในเดือนก่อน (ต.ค.) จากมาตรการเงินโอนภาครัฐ สอดคล้องกับกิจกรรมในภาคการค้า ด้านการลงทุนภาคเอกชน ปรับลดลงจากทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง อย่างไรก็ดี ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ และการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นจากหมวดยานยนต์ และสินค้าเกษตรแปรรูป

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง จากทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำ และลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากมีปัจจัยกดดันจากสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับบางภาคอุตสาหกรรม กำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันที่สูงขึ้น

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามหมวดพลังงาน จากผลของฐานต่ำในปีก่อน ที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากหมวดอาหาร ตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น จากผลของภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า

ตลาดแรงงานโดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการจ้างงานในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น แต่การจ้างงานในภาคการค้า รถยนต์ และการผลิตวัสดุก่อสร้างปรับลดลง ด้านดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุลเพิ่มขึ้นตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่กลับมาสมดุล รวมถึงดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้น

ในเดือนพ.ย.นี้ เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ลดลงในเกือบทุกหมวดหลัก หลังจากที่เร่งไปในเดือนก่อนจากมาตรการเงินโอนภาครัฐ โดยเฉพาะหมวดสินค้าไม่คงทนตามปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และหมวดสินค้าคงทน ตามยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์หลังจากที่เร่งขึ้นสูงในเดือนก่อน แม้ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถกระบะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านการใช้จ่ายในหมวดบริการทรงตัว

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการท่องเที่ยวในประเทศที่ดีขึ้น หลังสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือคลี่คลาย และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ลดลงจากเดือนก่อน โดยการลงทุนด้านเครื่องจักร และอุปกรณ์ลดลง จากยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะรถกระบะ และรถแทรกเตอร์ และการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลง หลังเร่งนำเข้าในเดือนก่อน นอกจากนี้ การลงทุนด้านการก่อสร้างลดลง จากทั้งยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะพื้นที่เพื่อที่อยู่อาศัย และอุตสาหกรรม

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น 3.2% จากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 3.2 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้นในหลายสัญชาติ โดยเฉพาะ อินเดีย ญี่ปุ่น และจีน ขณะที่นักท่องเที่ยวมาเลเซียลดลงชั่วคราวจากผลของน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ของไทย สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวลดลง หลังจากเร่งไปในช่วงก่อน ประกอบกับในเดือนนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ค่าใช้จ่ายต่อทริปสูง ปรับลดลง

มูลค่าการส่งออกสินค้า เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.1% แต่หากไม่รวมทองคำ เพิ่มขึ้น 7.3% จากเดือนก่อน จากหมวดยานยนต์ และสินค้าเกษตรแปรรูปเป็นสำคัญ โดยหมวดยานยนต์เพิ่มขึ้นตามการส่งออกรถยนต์นั่ง และรถกระบะ ไปออสเตรเลียและอาเซียน รวมถึงการส่งออกยางล้อไปสหรัฐฯ สำหรับหมวดสินค้าเกษตรแปรรูป เพิ่มขึ้นตามการส่งออกยางสังเคราะห์ไปจีนเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี การส่งออกไปสหรัฐฯ ในหลายสินค้าลดลง ได้แก่ เครื่องจักรและเครื่องอุปกรณ์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลจากการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้า เพื่อตอบโต้การทุ่มตลาดโดยสหรัฐฯ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำ ลดลงจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยหมวดวัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลางลดลง ตามปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการนำเข้าชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับหมวดสินค้าอุปโภคและบริโภคลดลงเช่นกัน หลังจากเร่งไปในเดือนก่อน โดยสินค้าคงทนลดลงตามการนำเข้าโทรศัพท์จากจีน ขณะที่สินค้าไม่คงทน ลดลงตามการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม อย่างไรก็ดี หมวดสินค้าทุนเพิ่มขึ้นตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์จากจีนเป็นสำคัญ

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน ขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงจากฐานที่ต่ำในปีก่อน ที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายล่าช้า โดยส่วนใหญ่ เป็นการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคม และสาธารณูปโภค ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวเล็กน้อย ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมเป็นสำคัญ

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามน้ำตาล หลังจากได้เร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า และอาหารสัตว์สำเร็จรูปที่สินค้าคงคลังอยู่ในระดับสูง และหมวดยานยนต์ จากทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถกระบะ อย่างไรก็ดี การผลิตบางหมวดปรับเพิ่มขึ้นบ้าง อาทิ ปิโตรเลียม และแผงวงจรรวม
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.95% (YoY) และเพิ่มขึ้น 0.09% จากเดือนก่อน จากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อน ที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ประกอบกับราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดอาหารสดลดลงตามราคาผัก เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้นตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.80% (YoY) และเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.12% จากเดือนก่อน จากหมวดอาหารเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งผ่านราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น จากผลของภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า

ภาวะตลาดแรงงานโดยรวม ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการจ้างงานในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น ชดเชยกับการจ้างงานในภาคการค้า รถยนต์ และการผลิตวัสดุก่อสร้าง ที่ปรับลดลง

ด้านดุลบัญชีเดินสะพัด อยู่ที่ 2 พันล้านดอลลาร์ เกินดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ที่กลับมาสมดุล จากดุลบริการภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้น จากการนำเข้าที่ลดลง

ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกช่องทาง โดยการระดมทุนผ่านสินเชื่อธุรกิจเพิ่มขึ้นจากธุรกิจกลุ่มโฮลดิ้งและภาคการผลิต ขณะที่ตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจในภาคบริการและก่อสร้างเป็นสำคัญ และตลาดทุนเพิ่มขึ้นจากธุรกิจในภาคบริการเพื่อขยายกิจการ

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนพฤศจิกายน 2567 เฉลี่ยอ่อนค่าลง ตามความไม่แน่นอนของขนาดการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกอบกับ ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งอาจส่งผลต่อภาคการค้า และการท่องเที่ยวของไทย

น.ส.ปราณี กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยว และบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลต่อการฟื้นตัวของรายรับธุรกิจ และรายได้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง

ทั้งนี้ ในระยะต่อไป ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือผลกระทบจากความไม่แน่นอนของแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles