นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า กนง. พร้อมที่จะทบทวนนโยบายอัตราดอกเบี้ย หากมีข้อมูลใหม่เข้ามาเพิ่มเติม และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อมุมมองเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยยืนยันว่าไม่ได้ยึดติดในเรื่องอัตราดอกเบี้ย เพียงแต่จะต้องพิจารณาผลกระทบ ความยั่งยืน และนัยต่อกรอบการทำนโยบายว่าเพียงพอหรือไม่
“เราไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องอยู่ในระดับนี้ไปตลอด (อัตราดอกเบี้ย) แต่ต้องแยกแยะ shock ที่เข้ามาว่า มีผลกระทบยั่งยืนขนาดไหน นัยต่อนโยบายมันมากพอหรือเปล่า ที่เราคุยกัน สเกล +/- 0.25% มันไม่ได้ต่างกันมาก เป็น degree ไม่ได้เยอะ คงไม่ใช่การลดดอกเบี้ยเยอะๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในตอนนี้ เรายังมีเวลาพิจารณาให้มั่นใจ เพราะยังมีปัจจัยทั้ง upside และ downside” นายปิติ กล่าว
พร้อมระบุว่า กนง. พยายามจะดูแลให้เศรษฐกิจในภาพรวมไปอยู่ในจุดที่พอดี ซึ่งมองในช่วง medium term คือระยะปานกลาง เพราะตระหนักดีว่าข้อจำกัด หรือเครื่องมือของ ธปท. ต้องใช้เวลาพอสมควร และสิ่งที่นโยบายการเงินคาดหวังว่าจะเข้าไปช่วยได้ คือ การดูแลเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ไม่ใช่ทันทีหรือในระยะสั้น และมองว่าปีนี้ และปีหน้ามีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวใกล้เคียงระดับศักยภาพ ซึ่งอัตราดอกเบี้ย และภาวะการเงินโดยรวมก็ยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน
สำหรับสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าไปแตะระดับ 37 บาท/ดอลลาร์ในปัจจุบันนั้น นายปิติ ยอมรับว่า ค่าเงินบาทมีความผันผวนและอ่อนค่านำสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ซึ่ง ธปท.จับตาอยู่ เพราะไม่ต้องการเห็นตลาดทำงานไม่ปกติ (disfunction) เช่น เกิดภาวะชะงักงัน หรือสภาพคล่องลดลง แต่ทั้งนี้ ก็ยังไม่เห็นสัญญาณหรืออาการดังกล่าวเกิดขึ้น ดังนั้นจึงยังไม่ถึงขั้นต้องทำอะไรในเชิงนโยบาย
ทั้งนี้ การที่เงินบาทอ่อนค่าล้วนมีสาเหตุและมีที่มา ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากต่างประเทศ คือ การคงนโยบายการเงินในระดับปัจจุบันของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ยาวนานขึ้น ขณะที่ปัจจัยในประเทศเอง เช่น ในช่วงไตรมาส 2 นี้ มีการส่งเงินปันผลกลับบริษัทต่างประเทศถึง 2 พันล้าน นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะเดินทางมาไทยลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด มีผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาส 2