นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หรือ แบงก์ชาติ เปิดเผยว่า การมองภาพการคลังเข้ามาในการกำหนดนโยบาย และการทำนโยบายที่สอดประสานกับนโยบายทางการเงินนั้น ธปท.คำนึงถึงแรงกระตุ้น แรงฉุดของภาครัฐบาลที่จะเกิดขึ้น ทั้งทางนโยบายการเงินและนโยบายทางการคลังก็ควรสอดประสานกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนมากในช่วงเกิดโควิดที่ทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมกันเต็มที่ โดย ธปท. ก็มีมาตรการกระตุ้นและกระทรวงการคลังก็มีมาตรการเข้ามาเสริมค่อนข้างแรง และช่วงที่วิกฤตคลายไปก็ทยอยถอนคันเร่งทั้งคู่
โดยช่วงนี้ กนง. ประเมินว่าจุดยืนนโยบายของ ธปท. เอื้อต่อเศรษฐกิจจะขยายตัวแบบมีศักยภาพในระยะยาว และไม่ได้เป็นอัตราดอกเบี้ย หรือจุดยืนนโยบายการเงินที่ขัดกับการให้เศรษฐกิจขยายตัวและฟื้นตัวเข้าไปสู่ศักยภาพ ซึ่งต้องแยกประเด็นเชิงวัฏจักรออกจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ขณะนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมถือว่าไม่ได้สูงมากถ้าเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด โดยเฉลี่ย 3-4 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยต่ำลงซึ่งเป็นปัญหาที่ ธปท.กังวลและเป็นห่วงแต่เมื่อวิเคราะห์ลงไปแล้วส่วนใหญ่เป็นเรื่องของปัจจัยเชิงโครงสร้างเช่นภาพการผลิตที่มีประสิทธิภาพไม่สูงมากนักการส่งออกที่แข่งกับต่างประเทศได้น้อยลงรวมถึงปัจจัยด้านประชากรที่เริ่มลดลง
ขณะที่ปัญหาเชิงวัฏจักร จุดยืนนโยบายตอนนี้ไม่ได้ไปฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการที่ภาคการคลังจะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจก็สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน ดังนั้น ถ้านโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนช่วงที่เกิดโควิดก็ยังไม่ใช่สถานการณ์แบบนั้นที่เศรษฐกิจต้องการ เพราะอัตราการเร่งตัวของเศรษฐกิจขนาดนี้ถือว่าไม่ได้น้อยลง ยืนยัน ธปท. พิจารณานโยบายทางการคลังเสมอและทำให้สอดรับกันได้กับนโยบายทางการเงิน
สำหรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจนโยบายการเงินของไทย แต่ยอมรับว่าเราอยู่ในโลกที่มีความไม่แน่นอน และมีการเปิดเสรีการค้าและการเงิน โดยจุดแข็งของไทย คือ ไม่ได้มีจุดเปราะบางการเงินไม่เยอะเหมือนในปี 2540 ทั้งในแง่หนี้ต่างประเทศระยะสั้น และหนี้สกุลต่างประเทศ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ถือว่ามีกันชนที่แข็งแรง
“อย่างไรก็ดี ในแง่อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะกระทบเยอะทั้งในแง่ผู้ส่งออก และนำเข้า หากมีการเคลื่อนไหวในทางเดียว ซึ่งความผันผวนดังกล่าวเชื่อว่าตลาดมีการซึมซับและดูทิศทางของเฟด”