แบงก์ชาติ ห่วงลงทุนชะลอ ฉุดเศรษฐกิจโตไม่เต็มศักยภาพ  คาดโตอยู่ที่ 2.5-3% แต่ไม่เห็นสัญญาณจีดีพีติดลบ 

นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “Monetary Policy Forum 1/2568” ถึงศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (Potential Growth) อยู่ที่ 2.5-3% หรือต่ำกว่า 3% เล็กน้อย สิ่งที่เป็นห่วงค่อนข้างมาก คือ การลงทุนต่ำที่ต่อเนื่อง เป็นต้นตอที่ทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยชะลอลง

โดยในภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน สิ่งแรกที่ชะลอ คือ การลงทุน ทำให้เศรษฐกิจระยะสั้นชะลอ แต่ระยะยาวจะขึ้นกับการปรับตัวของธุรกิจและซัพพลายเชน และความชัดเจนของนโยบายการค้าที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ส่วนนโยบายการเงินเป็นประเด็นรอง ๆ เพราะผู้ประกอบการอาจไม่ได้ดูต้นทุน แต่เป็นเรื่องของความชัดเจนของนโยบาย และกฎระเบียบความยากง่ายในการทำธุรกิจ ซึ่งนโยบายการเงินจะมาเป็นตัวเสริม

ส่วนการส่งผ่านนโยบายการเงินหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา 3 ครั้ง นับตั้งแต่ปลายปีก่อนจนถึงปัจจุบันมาอยู่ที่ระดับ 1.75% ต่อปี โดยปกติการส่งผ่านนโยบายการเงินมีหลายช่องทาง ซึ่งช่องทาง “ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน” ก็เป็นช่องทางหนึ่ง ปัจจุบันกำลังดำเนินการอยู่ แต่โดยปกติการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารจะพิจารณาบริบทธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจโดยรวม จะใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ในการปรับลดลง แต่ผลของดอกเบี้ยจะน้อยกว่า 2 ครั้งก่อนหน้า เพราะในภาวะดอกเบี้ยต่ำและความไม่แน่นอน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการลดดอกเบี้ยจะลดลง

สำหรับ การส่งผ่านนโยบายการเงินช่องทางอื่น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) เป็นบรรทัดฐานในการกู้ยืม และค่าเงินด้วย มีผลวงกว้างพอสมควร จึงอยากให้มองภาพองค์รวม ไม่ใช่แค่ธนาคารปรับอัตราดอกเบี้ย แต่ยังมีมาตรการทางการเงิน เช่น ช่วยเรื่องของโครงสร้างหนี้ หรือการช่วยในเรื่องของลดความเสี่ยง (Credit Risk) ที่สามารถทำควบคู่กับภาครัฐได้ อย่างไรก็ดี โดยปกติการส่งผ่านสู่ธนาคารพาณิชย์ และตลาดเงิน ค่าเงินบาทจะใช้เวลาราว 3-6 เดือน และการส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจจะใช้เวลา 1 ปีขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม หากถามว่าเศรษฐกิจในรูปแบบไหนจึงจะไม่มีความจำเป็นต้องเก็บกระสุน หรือ ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) เป็นอย่างไร จะเห็นว่า Policy Space มี Room ไม่มากแล้วหลังดอกเบี้ยปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.75% ต่อปี หากดูประเทศอื่นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ แรงกระตุ้นจากการลดดอกเบี้ยจะน้อยลง และการส่งผ่านจะลดลง ซึ่งการเก็บ “Policy Space” เก็บไว้เพื่อใช้รองรับโลกในระยะข้างหน้าที่มีความเสี่ยงหลากหลาย และอาจมีความจำเป็นต้องใช้กระสุนช่วงนั้นน่าจะดีกว่า โดยปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายลดลงมาต่ำแล้ว ผลอาจจะไม่เยอะ เช่น การลงทุน ลดดอกเบี้ยเยอะ แต่คนไม่อยากลงทุน เพราะหากนโยบายการค้าไม่ชัดเจน หรือคนก็ไม่อยากใช้จ่าย 

ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ภาพรวมตัวเลข GDP ไตรมาส 1/68 ยังคงไม่เห็นผลกระทบจากสงครามการค้า หรือจากภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs)) ของสหรัฐ เพราะมีการเร่งส่งออกไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ และยังคงต้องรอดูตัวเลขจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่จะออกมาด้วย

อย่างไรก็ดี คงไม่เห็นตัวเลข GDP ต่อไตรมาส (QoQ) ติดลบ แม้ว่า Shock จะใหญ่และยาว แต่ไทยเคยเจอ Shock ที่ใหญ่กว่านี้มาแล้ว สะท้อนจากฉากทัศน์ที่ไม่เห็นการเติบโตติดลบ เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในแต่ละไตรมาสเช่นกัน แม้ว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายการเงินจะช่วยได้บ้าง แต่ไม่ได้ทำให้ต้นทุนความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ (Credit Cost) ลดลง เพราะต้องยอมรับว่าผลตอบแทนของสถาบันการเงินจะมาจากส่วนของ Credit Cost หากต้องการปล่อยสินเชื่อใหม่ เช่น ธุรกิจเอสเอ็มอี จะต้องพิจารณาเรื่องของ Credit Cost หากมีการค้ำประกันเข้ามาช่วยจะทำให้ความเสี่ยงลดลง ซึ่ง ธปท.ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลง แต่เครื่องมือของ ธปท.จำกัดและดูในภาพกว้าง

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles