โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ สัญญา 4 คืบหน้า 53% เป็นไปตามแผนงาน

นายมนตรี เดชาสกุลสม ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมด้วย กรรมการ รฟม. และ ผู้บริหาร รฟม. ลงพื้นที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือ สายสีม่วงใต้ สัญญาที่ 4 ช่วงสะพานพุทธ – ดาวคะนอง บริเวณ Launch Shaft 1 สถานีโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า เพื่อตรวจติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงสร้างสถานีใต้ดินและงานขุดเจาะอุโมงค์ทางวิ่ง รวมถึงตรวจสอบการดำเนินงานตามมาตรการด้านความปลอดภัยในการก่อสร้าง และมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานและมาตรการกำกับดูแลการก่อสร้างที่คำนึงถึงความปลอดภัยอย่างสูงสุด

นายมนตรี เดชาสกุลสม ประธานกรรมการ รฟม. กล่าวว่า เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีโครงสร้างทางวิ่งทั้งยกระดับและใต้ดิน การลงพื้นที่ก่อสร้างสถานีโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าในครั้งนี้ จึงเป็นการตรวจติดตามต่อเนื่องจากที่กรรมการและผู้บริหาร รฟม. ได้เคยลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ เมื่อต้นเดือนเมษายน 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งการดำเนินงานก่อสร้างโครงสร้างใต้ดิน สัญญาที่ 4 ช่วงสะพานพุทธ – ดาวคะนอง ได้เริ่มขุดเจาะอุโมงค์ทางวิ่งจากสถานีโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้ามุ่งหน้าไปยังสถานีสะพานพุทธฯ เมื่อเดือนมกราคม 2568 โดยใช้หัวขุดเจาะอุโมงค์ทั้งสิ้น 2 หัว ปัจจุบันมีความคืบหน้างานก่อสร้าง สัญญาที่ 4 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 คิดเป็นร้อยละ 53.06

ซึ่งที่ผ่านมาตนได้เน้นย้ำให้ รฟม. ที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง และผู้รับจ้างก่อสร้างต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เช่น ควบคุมให้มีการตรวจสอบและใช้งานอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร ที่มีสภาพดีและมีขั้นตอนการทำงานที่ถูกต้อง ปลอดภัย มีการตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างก่อสร้างอย่างสม่ำเสมอ และติดตามการดำเนินงานของผู้รับจ้างก่อสร้างให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ในการควบคุมความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น รวมถึงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น การฉีดพรมน้ำเพื่อลดฝุ่นละอองในระหว่างการก่อสร้าง การตรวจสอบสภาพเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างให้ได้มาตรฐาน การดับเครื่องยนต์ทุกครั้งที่ไม่ใช้งาน รวมถึงการขุดลอกท่อระบายน้ำ และการป้องกันเศษวัสดุกีดขวางทางระบายน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง

พร้อมกันนี้ ได้เน้นย้ำให้ รฟม. กำกับดูแลการบรรเทาผลกระทบด้านการจราจรในระหว่างการก่อสร้าง โดยให้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออํานวยความสะดวกแก่ผู้ใช้เส้นทาง เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนโดยรอบน้อยที่สุด

สำหรับความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธาในภาพรวมของทั้งโครงการฯ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ร้อยละ 53.48 มีการดำเนินงานในภาพรวมโครงการฯ ได้แก่ งานก่อสร้างโครงสร้างสถานีใต้ดินและสถานียกระดับ งานขุดเจาะอุโมงค์ทางวิ่ง งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ งานก่อสร้างโรงจอดรถไฟฟ้า เป็นต้น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles