ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่าอาจจะเป็นวันที่ 2 เมษายน ผมอยากจะลงนามสั่งวันที่ 1 เมษายน แต่คิดว่าจะเป็นวันที่ 2 เมษายนนี้ สำหรับมาตรการเก็บภาษีนำเข้าชุดต่อไปที่จะประกาศใช้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ เนื่องจากคณะทำงานด้านภาษีสินค้านำเข้าได้ส่งสรุปรายงานมาให้เป็นที่เรียบร้อยหลังจากเมื่อวานนี้ได้ลงนามในแผนการจัดเก็บภาษีเท่าเทียมหรือภาษีต่างตอบแทนระหว่าง 10 ถึง 20% กับทุกประเทศทั่วโลกที่เก็บภาษีส่งออกสินค้าจากสหรัฐอเมริกา
โกลบอล ดาต้า เปิดเผยว่าแบรนด์รถยนต์ชั้นนำจากต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยุโรป ที่ส่งรถยนต์เข้าไปขายในตลาดรถยนต์สหรัฐอเมริกาจะเผชิญกับปัจจัยลบจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ที่จะประกาศในวันที่ 2 เมษายนนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สถิตินำเข้ารถยนต์จากต่างชาติมาจำหน่ายเมื่อเทียบกับยอดขายในสหรัฐอเมริกา มีดังนี้ตามลำดับ 1. โฟล์คสวาเก้น (เยอรมนี) 80% 2. ฮุนได (เกาหลีใต้) 65% 3. เมอร์เซเดส เบนซ์ (เยอรมนี) 63% 4. เรโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิ (ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น) 53% 5. บีเอ็มดับเบิลยู (เยอรมนี) 52% 6. โตโยต้า (ญี่ปุ่น) 51% 7. จีเอ็ม (สหรัฐ) 46% 8. สเตลแลนติส (ยุโรป-สหรัฐ) 45% 9. ฮอนด้า (ญี่ปุ่น) 35% และ 10. ฟอร์ด (สหรัฐ) 21% จะเห็นได้ว่ารถยนต์จากแบรนด์เยอรมนีหรือยุโรป และฮุนไดหรือเกาหลีใต้เข้าข่ายรับผลกระทบมากที่สุด
อย่างไรก็ตามมาตรการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวไว้ยังคงมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงเนื่องจากยังไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราภาษีที่ชัดเจนรวมถึงยังไม่มีรายละเอียดว่าจะกระทบไปถึงบริษัทที่ผลิตในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างไรบ้าง
ย้อนกลับไปในช่วงการหาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะพบว่าทรัมป์มีความคิดที่ต้องการให้บริษัทผลิตรถยนต์ของเยอรมนีกลายมาเป็นบริษัทของสหรัฐอเมริกา ในปี 2024 สหรัฐอเมริกานำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์รวมเป็นมูลค่า 471,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 16 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรถยนต์มูลค่า 214,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 7.28 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 45% ของการนำเข้าทั้งหมด และชิ้นส่วนมูลค่า 192,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 6.53 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 41% ของการนำเข้าทั้งหมด และรถบรรทุก รถโดยสาร และยานยนต์เฉพาะกิจมูลค่า 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.21 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 14% ของการนำเข้าทั้งหมด
ในด้านประเทศที่มีผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็นรายใหญ่อันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐอเมริกา เรียงตามลำดับ ได้แก่ 1. เม็กซิโก 49,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.67 ล้านล้านบาท 2. ญี่ปุ่น 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.36 ล้านล้านบาท 3. เกาหลีใต้ 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.26 ล้านล้านบาท 4. แคนาดา 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 952,000 ล้านบาท และ 5. เยอรมนี 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 850,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ในปัจจุบัน เม็กซิโก แคนาดา และเกาหลีใต้ สามารถเข้าถึงสหรัฐได้โดยไม่ต้องเสียภาษีสำหรับรถยนต์ส่วนใหญ่ของตน โดยถือว่าประเทศเหล่านี้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ “กฎถิ่นกำเนิดสินค้า” ของรถยนต์ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีที่พวกเขามีกับสหรัฐ