โต้ตัวเลข! นักวิชาการชี้ไทยเกิดภาวะเด็กเบื่อโรงเรียน ยอดออกกลางคันพุ่งสูง 2 เท่า

141
0
Share:
โต้ตัวเลข! นักวิชาการชี้ไทยเกิด ภาวะเด็ก เบื่อโรงเรียน ยอดออกกลางคันพุ่งสูง 2 เท่า

นายอนุชาติ พวงสำลี อดีตคณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เด็กนักเรียนออกกลางคันเป็นปัญหาหนักต่อเนื่อง ในปีนี้ตัวเลขพุ่งขึ้นเป็น 2 เท่า กลายเป็นเรื่องน่าห่วง การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งจะเห็นว่ามีความพยายามในการปฏิรูปการศึกษา แต่ก็ล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะว่ากลไกของกระทรวงศึกษาธิการแข็งตัว เป็นระบบราชการรวมศูนย์

การแก้ปัญหาเรื่องนี้ กระทรวงฯ ต้องปลดข้อพันธนาการที่สร้างไว้กับโรงเรียน และควรจะอนุญาตให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ภาคเอกชน พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือแหล่งการเรียนรู้ต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ในปัจจุบันพบว่าระบบของโรงเรียนไม่สามารถรองรับวิธีการเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่ได้ เป็นแรงผลักให้เด็กหลุดจากระบบ พูดให้เข้าใจง่ายคือ ‘เด็กเบื่อโรงเรียน’ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กสามารถเรียนได้ทุกที่ โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียน แต่หลักสูตรในปัจจุบันยังยืดหยุ่นไม่พอ มีการประเมินผลการเรียนรู้ของเด็กแบบเดียวคือการตัดเกรด ดังนั้นอยากให้เปลี่ยนมุมมอง ดูที่ผลลัพธ์ว่าเด็กสามารถทำอะไรได้ดี และให้เครดิตตรงนั้น

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่าน แต่ละระดับการศึกษาจะมีเด็กในระบบลดลงมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งเพราะอัตราการเกิดลดลง และจากข้อมูลปี 2566 ในส่วนของกระทรวงฯ มีเด็กหลุดออกจากระบบประมาณ 2-3 หมื่นคน จากโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศกว่า 3 หมื่นแห่ง สิ่งที่น่าสนใจคือ ปีนี้มีเด็กสนใจเข้าเรียนสายอาชีพมากขึ้น ถือว่าเป็นไปตามนโยบาย ผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ ส่วนข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ระบุว่ามีเด็กออกกลางคันถึง 1.02 ล้านนั้นอาจจะเป็นข้อมูลที่ไม่ได้ตรงกับกระทรวงฯ มากนัก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจเป็นผลจากภาพรวมทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงฯ สังกัดเดียว

นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ในฐานะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดเผยว่า ปี 2566 มีเด็กนักเรียนออกกลางคันประมาณ 1,025,514 คน ซึ่งในอดีตที่มีเด็กออกกลางคันปีละกว่า 5 แสนคน ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างเท่าตัว สาเหตุไม่ได้มาจากความยากจนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษา การเมืองหม่นหมอง สร้างความไม่มั่นใจให้กับการทำงาน การลงทุน เศรษฐกิจถดถอยซบเซา สังคมมีสภาพผุกร่อน ระบบการศึกษาที่มีปัญหา ทำให้เด็กออกกลางคันเพิ่มขึ้น