ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรในสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โรงงานอุตสาหกรรมสมุนไพรในไทยที่มีความเสี่ยงที่จะถูกปิดโรงงาน ข้อมูลในปัจจุบัน พบว่า ประเทศไทยมีโรงงานผลิตสมุนไพรมากกว่า 1,000 แห่ง แต่มีโรงงานผลิตสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ผ่านมาตรฐาน GMP PIC/S มากถึง 500 แห่ง หากโรงงานสมุนไพรเหล่านี้ถูกปิดตัวลง ประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสในการผลักดันในการสร้างผลิตภัณฑ์สมุนไพรมูลค่าสูง รวมถึงสูญเสียการสนับสนุนศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย นั่นหมายถึงการปิดตัวของโรงงานในประเทศไทย กำลังส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและแรงงานอย่างมาก
ขณะนี้ อุตสาหกรรมสมุนไพรของไทยยังพอที่ประคับประครองธุรกิจได้อย่างดี ในระดับหนึ่ง เนื่องจากผู้ประกอบการได้ปรับตัวแบบ 360 องศา ทั้งการลงไปจับตลาดใหม่ๆ การเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว การพัฒนาแพ็กเก็จจิ้งให้มีความโดดเด่นให้เหมาะแก่การสะสมและเป็นของฝาก
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรในสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์โรงงานในประเทศไทยเผชิญภาวะยากลำบาก เนื่องจากมีการปิดตัวลงเกือบ 2,000 แห่ง ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ถึงเดือนมิถุนายน 2567 การปิดโรงงานจำนวนมากดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตเกือบ 1 ใน 4 หรือเกือบ 25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ทำให้แรงงานในโรงงานมากกว่า 51,500 คน ต้องตกงาน และวิกฤตดังกล่าวมีโอกาสลุกลามไปยังภาคการผลิตในอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย
ทั้งนี้ มูลค่าตลาดสมุนไพรในปัจจุบันอยู่ที่ 52,104.3 ล้านบาท มีแนวโน้มการเติบโต 8% ต่อปี ปัจจัยที่สนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเติบโตมาจากการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพซึ่งมีกำลังซื้อสูง คนเริ่มกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาเคมี จึงหันมาใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากขึ้น สังคมสูงวัยและประชากรโลกมีอายุยืนยาวขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ มากขึ้น ผู้คนจึงมองหาผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาช่วยดูแลสุขภาพและป้องกันโรค และกระแสการกลับสู่ธรรมชาติผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมรวมทั้งธรรมชาติมากขึ้น จึงนิยมใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและสมุนไพร