ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยบทวิเคราะห์ เรื่องโจทย์ด่วนโรงแรมไทยกับคำว่า “ยั่งยืน” โดยระบุว่าการประกาศใช้ข้อกำหนดใหม่ของสหภาพยุโรป (EU) ในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ทั้ง Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) ว่าด้วยการรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และ Corporate Sustainability Due Diligence Directive (CSDDD) ว่าด้วยการสอบทานด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้ผู้บริโภคในยุโรปและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงรายงานด้านความยั่งยืนของบริษัทหรือองค์กรในยุโรปรวมถึงบริษัทต่างชาติที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานได้ภายในปี 2569 นั้นจะส่งผลกระทบต่อโรงแรมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โรงแรมไทยกำลังถูกผลักดันให้ยั่งยืนยิ่งขึ้นเพื่อรับกติการักษ์โลกของ EU ภายในปี 2569 เนื่องจากโรงแรมและที่พักของไทยกว่า 2 หมื่นแห่งขายห้องพักบน Booking.com ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์รวมถึง Agoda ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้การบริหารของบริษัทแม่เดียวกัน (Booking Holdings) ที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด CSRD และ CSDDD โดยทาง Booking.com และ Agoda ได้ขานรับข้อกำหนดของ EU พร้อมส่งเสริมโรงแรมทั่วโลกที่ขายห้องพักบนแพลตฟอร์มให้ได้รับการรับรองมาตรฐานความยั่งยืนในระดับสากล อย่างเช่น Greenkey, Green Globe, Travelife, EarthCheck, GSTC และรวมถึง Green Hotel Plus ของไทยที่ได้รับ GSTC-Recognized Standard นอกจากนี้ ข้อกำหนดดังกล่าวยังรวมไปถึงบริษัททัวร์ในยุโรปที่ขายแพ็กเกจท่องเที่ยวไทยด้วย
ทั้งนี้จากข้อมูลโครงการสำรวจเพื่อการวิเคราะห์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศในไตรมาส 3 ปี 2567 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่า 56% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยนิยมจองโรงแรมและที่พักผ่าน OTAs และ 35% ของนักท่องเที่ยวยุโรปจองโรงแรมและที่พักผ่านบริษัททัวร์ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ได้ว่าข้อกำหนดใหม่นี้จะส่งผลกระทบกับธุรกิจโรงแรมไทยที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 35 ล้านคนในแต่ละปี โดยราว 20% เป็นนักท่องเที่ยวจากยุโรป ขณะที่โรงแรมไทยในภาพรวมยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นบนเส้นทางของความยั่งยืน จากการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจโรงแรมทั่วโลกของ The Department for Environment, Food & Rural Affairs (DEFRA) ของสหราชอาณาจักร พบว่า ในปี 2566 โรงแรมไทยยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่ค่อนข้างสูงที่ 43.4 kgCO2e per occupied room เมื่อเทียบกับเมืองท่องเที่ยวสำคัญของโลกอย่างญี่ปุ่น สิงคโปร์ อิตาลี และฝรั่งเศส
โรงแรมไทยในภาพรวมยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการก้าวสู่ความยั่งยืน สะท้อนจากจำนวนโรงแรมที่ได้รับมาตรฐานด้านความยั่งยืนในระดับสากลทั้งหมดในปี 2567 อยู่ที่ราว 100 แห่งหรือมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของโรงแรมและที่พักในไทยทั้งหมด อีกทั้งยังกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และภูเก็ต โดยกว่า 60% เป็นโรงแรมเชนทั้งในเครือเชนต่างประเทศและเชนไทย ซึ่งเส้นทางสู่ความยั่งยืนของโรงแรมไทยยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการทั้ง
1) ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจถึงประโยชน์ในระยะยาวของการเป็นโรงแรมยั่งยืน
2) ความพร้อมในด้านเงินทุน บุคลากร ที่ปรึกษา และการเก็บข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างเป็นระบบเนื่องจากธุรกิจโรงแรมเพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ได้ไม่นาน
และ 3) แรงกระตุ้นที่จะผลักดันให้ธุรกิจโรงแรมเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนทั้งจากนโยบายภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจากเทรนด์ของนักท่องเที่ยว
ก้าวสำคัญ (3T) ที่จะช่วยให้โรงแรมยั่งยืนเกิดขึ้นได้จริง
Target: การกำหนดเป้าหมายสู่ความยั่งยืนภายใต้กรอบเวลาและแผนงานที่ชัดเจน รวมถึงกำหนดตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลการดำเนินงาน ซึ่งธุรกิจโรงแรมอาจกำหนดเป้าหมายระยะสั้นควบคู่ไปกับเป้าหมายระยะยาว
Teamwork: การสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้แก่พนักงาน Supplier ไปจนถึงผู้เข้าพัก ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการก้าวสู่ความยั่งยืนร่วมกันด้วย
Transform: ธุรกิจโรงแรมอาจเริ่มต้นจากการปรับลดการใช้พลังงานและทรัพยากร รวมถึงการเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง แล้วจึงวางแผนเพิ่มการลงทุนในพลังงานทดแทนหรือปรับปรุงอาคารเขียวเมื่อมีความพร้อม
การก้าวข้ามข้อจำกัดและการเสริมความแข็งแกร่งด้านความยั่งยืนต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐ
การยกระดับเป้าหมายความยั่งยืนไทย ด้วยการผลักดันให้ความยั่งยืนเป็นเรื่องโจทย์ด่วนไม่ใช่เป็นเพียงทางเลือกของธุรกิจผ่านการออกข้อกำหนด/มาตรการการบังคับใช้เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเห็นความสำคัญในการก้าวสู่ความยั่งยืนอย่างจริงจัง รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมด้านความยั่งยืนให้กับสังคม
การพิจารณาจัดตั้งกองทุนความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับการดำเนินการด้านความยั่งยืนเพื่อให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลาง-เล็ก ซึ่งอาจครอบคลุมไปถึงการสนับสนุนเงินทุนในการยื่นขอรับใบรับรองมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากล
การออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านความยั่งยืน อย่างเช่นการออกสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน การฝึกอบรมบุคลากร หรือการขอใบรับรองมาตรฐานในระดับสากลเพื่อกระตุ้นให้โรงแรมไทยหันมาลงทุนด้านความยั่งยืนมากขึ้น