ธนาคารกลางจีน หรือ PBOC เปิดเผยว่า กำลังพิจารณาที่จะใช้มาตรการขายพันธบัตรของรัฐบาล จีน เพื่อนำเงินดังกล่าวนำไปเติมให้กับธนาคารสังกัดของรัฐบาลจีนที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเม็ดเงิน 1 ล้านล้านหยวน หรือ 142,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 4.83 ล้านล้านบาท ส่งผลให้กลายเป็นการเพิ่มเงินทุนให้กับธนาคารรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีนเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี หรือนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินทั่วโลกในปี 2008 หรือที่รู้จักกันดีว่าวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐอเมริกาเป็นต้นมา
สำหรับในรายละเอียดของการใช้มาตรการดังกล่าวนั้น ยังไม่เป็นที่เปิดเผยออกมาอย่างชัดเจน เนื่องจากว่ายังอาจจะมีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดบางส่วน ก่อนที่จะมีการประกาศใช้มาตรการอย่างเป็นทางการภายในเร็วๆ นี้ สำหรับสถานะของธนาคารรัฐวิสาหกิจในจีนนั้นปรากฏว่าการแข่งขันที่รุนแรงและสภาวะตลาดสินเชื่อที่ชะลอตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ย่ำแย่ส่งผลให้ธนาคารรัฐวิสาหกิจของจีนมีกำไรลดลงถึงขั้นอาจจะมีแนวโน้มขาดทุนในขณะเดียวกันมีภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจของลูกค้าธนาคาร
ในขณะที่การรวบรวมผลกำไรในภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดในประเทศจีน พบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 นี้ กำไรในภาพรวมทั้งหมดของระบบธนาคารพาณิชย์ในจีนเพิ่มขึ้นอย่างเบาบางเพียง 0.4% ส่งผลให้เป็นอัตรากำไรของธนาคารพาณิชย์ในจีนที่เพิ่มขึ้นต่ำที่สุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่ปี 2020 หรือตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในจีน
ธนาคารกลางจีนมีความพยายามที่จะเพิ่มเติมเงินทุนให้กับสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารรัฐวิสาหกิจ ถึงแม้ว่า 6 ธนาคารรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีนนั้นจะมีอัตราเงินทุนตั้งสำรองไว้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย และสูงกว่าตัวชี้วัดอย่างมากก็ตาม ซึ่งในปัจจุบันกำหนดไว้ที่ระดับ 8.5% ในปัจจุบันมีธนาคารรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแบงค์ ออฟ ไชน่า และธนาคารอินดัสเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า กำลังเผชิญกับความสามารถในการดำเนินกิจการที่มีอัตราการทำกำไรลดต่ำลงมาก ส่งผลกระทบต่อผลกำไรตกต่ำลงและมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น แต่มาตรการดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการภาพรวมของการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา