ได้โนเบล! อดีตประธานแบงก์ชาติสหรัฐและอีก 2 นักเศรษฐศาสตร์คว้ารางวัลโนเบลปี 2022

281
0
Share:
ได้โนเบล! อดีตประธานแบงก์ชาติสหรัฐและอีก 2 นักเศรษฐศาสตร์ คว้า รางวัลโนเบลปี 2022

นายเบน เบอร์นันกี้ อดีตประธานธนาคารโลกสหรัฐอเมริกาในยุคสมัยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาบารัก โอบาม่า และนักเศรษฐศาสตร์อีก 2 คน ได้แก่ ดักกลาส ไดอามอนด์ และฟิลิป ไดบ์วิก ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2022 สำหรับงานวิจัยวิกฤตเศรษฐกิจการเงินและธนาคาร

งานวิจัยที่มีชื่อว่าวิกฤตเศรษฐกิจการเงินและธนาคารของทั้ง 3 คน ได้ถูกคัดเลือกจากงานวิจัยของบรรดาศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ชั้นนำจำนวนมากมายถึง 3,000 คน

สำหรับรางวัลดังกล่าวถือเป็นรางวัลประเภทสุดท้ายของการประกาศจากคณะกรรมการในปีนี้ ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลในสาขาเศรษฐศาสตร์จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 10 ล้านเหรียญคราวน์ หรือราว 35 ล้านบาท

สำหรับประวัติของนายเบน เบอร์นันกี้ นั้น เป็นศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยพริ้นซ์ตั้น Princeton และเคยเป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับงานธนาคารกลางโดยเฉพาะนโยบายการเงินมากที่สุดคนหนึ่ง

นายเบน เบอร์นันกี้ เป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟดในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตจากปัญหาฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์เมื่อปี 2006 ดังนั้น ช่วงการทำงานส่วนใหญ่ของ นายเบอร์นันกี้ในฐานะผู้ว่าการจึงยุ่งอยู่กับการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐที่เกิดขึ้น และการเป็นผู้นำให้กับการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่กระทบไปทั่วโลก

นายเบอร์นันกี้ ได้มุ่งมั่นทำงานแก้ไขปัญหาอย่างน่าชื่นชม ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยรุนแรง รวมถึงสามารถรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินสหรัฐ ไม่ให้เกิดวิกฤติรุนแรง แต่จากปัญหาที่เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกประสบในช่วงวิกฤติที่ต้องถือว่ารุนแรง การทำงานและภาวะผู้นำของธนาคารกลางสหรัฐภายใต้การบริหารของนายเบอร์นันกี้ต้องถือว่าดีพอควร แม้จะถูกวิจารณ์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการเงินในยุคสมัยอดีตประธานเฟดนายอลัน กรีนสแปน ที่มีส่วนทำให้วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้น

สำหรับจุดเด่นและสำคัญ 3 ด้านของ นายเบน เบอร์นันกี้ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานเฟด

ความรู้ความสามารถของนายเบอร์นันกี้ในเรื่องเศรษฐศาสตร์ เรื่องงานธนาคารกลางและนโยบายการเงิน ทั้งหมดได้นำไปสู่การทำนโยบายที่มองไปข้างหน้าที่เหมาะสมและระมัดระวัง ที่สำคัญภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่อนข้างแย่ จนดูเหมือนนโยบายการเงินจะหมดประสิทธิภาพ มีการดำเนินนโยบายการเงินในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยใช้มาก่อน เพื่อแก้ปัญหา เริ่มตั้งแต่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำจนใกล้ศูนย์ การใช้เงินของธนาคารกลางให้กู้ยืมเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน และการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านมาตรการคิวอีเพื่อรักษาเสถียรภาพและช่วยระบบเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว นโยบายดังกล่าวได้ทำให้ขนาดของฐานะทางบัญชีของธนาคารกลางสหรัฐเพิ่มจาก 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2008 เป็น 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบางครั้งถูกวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม เพราะจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงตามมา แต่ความสำคัญของการรักษาเสถียรภาพและฟื้นเศรษฐกิจดูเป็นเหตุผลสำคัญที่ทุกฝ่ายตระหนักว่าการดำเนินนโยบายการเงินในลักษณะดังกล่าวอาจสำคัญและจำเป็น ถึงแม้ความไม่แน่นอนจากผลกระทบของนโยบายในระยะยาว ต่อภาวะเงินเฟ้อจะมีอยู่มาก ที่แน่ชัด นายเบอร์นันเก้ ได้มอบตำนานการแก้ไขปัญหาในยามเศรษฐกิจเกิดวิกฤติรุนแรงไว้เป็นตัวอย่างให้กับคนรุ่นหลัง

จุดเด่นที่สอง คือ ความสามารถของ นายเบอร์นันกี้ ในการสื่อสารนโยบายการเงิน ที่สามารถอธิบายสถานการณ์เศรษฐกิจในเชิงวิเคราะห์ได้อย่างชัดเจน สร้างความมีเหตุมีผลให้กับการวิเคราะห์และนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ นำมาสู่ความน่าเชื่อถือต่อนโยบายการเงินสหรัฐ ความเข้าใจในเหตุผลของการทำนโยบาย ทำให้ตลาดการเงินสามารถปรับตัวกับทิศทางนโยบายการเงินได้ล่วงหน้า ทำให้ความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการการเงินลดลง นอกจากนี้ ความสามารถในการสื่อสารนโยบายของ นายเบอร์นันกี้ ทำให้ฝ่ายการเมืองสหรัฐสามารถเข้าใจความยุ่งยากของปัญหาที่ต้องแก้ไข นำมาสู่ความไว้วางใจที่จะสนับสนุนนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐจนทำให้การแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างทันเวลา โดยเฉพาะการอัดฉีดสภาพคล่องเพื่ออุ้มสถาบันการเงินในช่วงแรกที่วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้น

สุดท้าย จุดเด่นที่สาม คือความสำเร็จของ นายเบอร์นันกี้ในการสร้างความโปร่งใสในกระบวนการการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยผลการประชุม การให้ข้อมูล การออกบทวิเคราะห์ต่างๆ เป็นระยะๆ เพื่อให้ตลาดการเงินเข้าใจในแนวคิดของธนาคารกลางสหรัฐเกี่ยวกับภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึงการชี้นำทิศทางนโยบายหรือ Forward guidance ที่ทำให้ตลาดการเงิน ภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถเข้าใจถึงแนวทางและเงื่อนไขการทำนโยบายการเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทำให้สามารถปรับตัวกับทิศทางของนโยบายได้ล่วงหน้า

ตัวอย่างเช่น ในช่วงปลายปี 2012 ที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐได้ให้ข้อสรุปต่อสาธารณะ ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะดำเนินนโยบายการเงินภายใต้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำมากต่อไป คือระหว่าง 0 หรือ 0.25 เปอร์เซ็นต์ ตราบใดที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 6.5 อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ช่วงสองปีข้างหน้าไม่เกินร้อยละ 2.5 และอัตราเงินเฟ้อคาดหวังระยะยาวของภาคธุรกิจมีเสถียรภาพ ความชัดเจนดังกล่าวนี้ทำให้ตลาดการเงิน ภาคธุรกิจและประชาชน สามารถคาดเดาทิศทางและการตัดสินใจของนโยบายการเงินได้พอควร ทำให้ภาคธุรกิจและตลาดการเงินสามารถปรับตัวได้ล่วงหน้า นำมาสู่การยอมรับและความน่าเชื่อถือของนโยบายการเงิน

แต่ที่น่าประทับใจที่สุด ก็คือข่าวที่ออกมาว่า ในการแถลงข่าวครั้งสุดท้ายของเขาในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ นายเบอร์นันกี้ยอมรับความผิดพลาดของเขาในช่วงแรกของการรับตำแหน่ง โดยบอกว่า เขาเองก็ช้าเกินไปที่ยอมรับว่าเศรษฐกิจกำลังมีปัญหา (I was slow to recognize the crisis.) เพราะความแตกต่างของวิกฤติคราวนี้ต่างจากแต่ก่อนในแง่รูปแบบ แม้พื้นฐานของปัญหาที่นำไปสู่วิกฤติจะคล้ายกัน ทำให้มองเห็นได้ยากขึ้น จุดนี้ผมเห็นว่า เป็นการแสดงความรับผิดชอบของผู้ทำนโยบายที่น่ายกย่อง

ทั้งนี้ ในปัจจุบันนายเบอร์นันเก้ ได้เริ่มงานใหม่ทันทีในฐานะนักวิจัยที่สถาบัน Brooking กรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งคาดว่าคงใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานด้านวิชาการและเขียนหนังสือ อันนี้เป็นเอกลักษณ์ที่น่าชื่นชมของนายเบอร์นันกี้ที่ต่างกับอดีตผู้ว่าการคนอื่นๆ ที่มักเข้าทำงานกับสถาบันการเงิน หรือเป็นที่ปรึกษาสถาบันการเงินหลังหมดวาระ