นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถิติการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. 67 ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวม 480.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 56.92% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ
ส่วนประเทศปลายทางที่ไทยมีการส่งออกไปโดยใช้สิทธิ GSP มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ สหรัฐฯ โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ 444.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 62.17% ของสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ
โดยสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกไปยังสหรัฐฯ ภายใต้สิทธิ GSP 5 อันดับแรก คือ ถุงมือยาง ,อาหารปรุงแต่ง,พลาสติกปูพื้นทำด้วยโพลิเมอร์ของไวนิลคลอไรด์ ,หีบเดินทางขนาดใหญ่หรือกระเป๋าใส่เสื้อผ้า และกรดมะนาวหรือกรดซิทริก
สำหรับสินค้าถุงมือยางเป็นสินค้าที่ไทยใช้สิทธิ GSP เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในอันดับต้นๆ มาโดยตลอด และจากการติดตามสถิติพบว่า มูลค่าการส่งออกที่ใช้สิทธิฯ เดือนม.ค.-ก.พ. 67 ถุงมือยาง ได้ขยับขึ้นมาเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่ง ภายใต้ GSP โดยมีมูลค่าการส่งออกที่ใช้สิทธิ GSP 22.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 30% ซึ่งไทยถือเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าถุงมือยางที่สำคัญของสหรัฐฯ
ในปี 66 สหรัฐฯ นำเข้าถุงมือยางจากทั่วโลกมูลค่าประมาณ 590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในเดือนม.ค. – ก.พ. 67 ถุงมือยางของไทยมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ในอันดับที่สองที่ 32.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองจากมาเลเซีย (44.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จีน (9.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อินโดนีเซีย (5.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และศรีลังกา (4.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามลำดับ
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยได้รับสิทธิ GSP จาก 4 ประเทศ/กลุ่มประเทศ นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิ GSP เพื่อส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ซึ่งประกอบด้วย ยูเครน อาเซอร์ไบจาน ทาจิกิสถาน มอลโดวา อุซเบกิสถาน จอร์เจีย และเติร์กเมนิสถาน อีกด้วย
นอกจากนี้ ไทยยังอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ EFTA (ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) ที่จะมาทดแทนโครงการ GSP ของสวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ ซึ่งจะถือเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกของไทยที่จะได้รับสิทธิในการลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้าได้อย่างถาวร แตกต่างจากโครงการสิทธิพิเศษ GSP ที่เป็นการให้สิทธิพิเศษฝ่ายเดียว ประเทศผู้ให้สิทธิฯ จึงสามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้สิทธิฯ ได้ตามนโยบายของแต่ละประเทศ