นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากล่าวว่าแนวโน้นการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Industry) ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบ ธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ระยะ 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563-2566) มีจำนวน 14 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22,134.80 ล้านบาท
เป็นนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ลงทุนในธุรกิจนายหน้า ค้าปลีก ค้าส่งรถยนต์ไฟฟ้า รถจักยานยนต์ไฟฟ้า EV Battery จำนวน 4 ราย ทุน 310.80 ล้านบาท ธุรกิจ EV Charging Station 3 ราย ทุน 8,893.34 ล้านบาท ธุรกิจบริการับจ้างผลิต 2 ราย ทุน 371.68 ล้านบาท และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Industry) 5 ราย ทุน 12,558.99 ล้านบาท
ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถ EV มีแนวโน้มการลงทุนจากสัญชาติจีนในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นแบรนด์จากประเทศจีน ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตมากและส่งออกมากที่สุดของโลก
โดยมีการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ประมาณ 1% ของสัดส่วนการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศจีน ขณะเดียวกันประเทศจีนก็กำลังเข้ามาขยายฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอีกด้วย นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทย ที่จะทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้าน และองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิตรถ EV
นอกจากนี้ เท่าที่ได้ติดตามอุตสาหกรรม EV มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสาเหตุด้านความผันผวนของราคาน้ำมันหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคยุคใหม่ใส่ใจมากยิ่งขึ้น ถึงแม้อุตสาหกรรมจะเผชิญความท้าทายด้านการทำกำไร เนื่องจากราคารถ EV มีแนวโน้มถูกลงจากต้นทุนการผลิตที่ลดลง แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการพัฒนารูปแบบรถ EV ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ทำให้โอกาสของรถ EV และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดด และทำกำไรอย่างต่อเนื่องในอนาคตเป็นต้น