กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา เงินบาท ยังเคลื่อนไหวในกรอบ แม้มีเหตุแผ่นดินไหว และการประกาศมาตรการ Tariffs ของสหรัฐฯ โดย Implied volatility ลดลง สอดคล้องสกุลต่างประเทศ ในระยะสั้นนี้ มาตรการ Tariffs จะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้ โดยต้องจับตาการประกาศภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ซึ่งหากออกมาตามคาดก็จะเป็นจังหวะดีที่ผู้ส่งออกอาจพิจารณาขาย USDTHB ที่ราว 34.20-34.50 บาทต่อดอลลาร์ เพราะในระยะยาวมองว่าเงินบาทมีโอกาสจำกัดที่จะอ่อนค่าแรงอีกได้ สำหรับผู้นำเข้า อาจพิจารณาซื้อ USDTHB บางส่วนก่อนที่จะมีประกาศมาตรการภาษี และอาจลุ้นว่า หากสหรัฐฯ ขึ้น Tariffs ในอัตราที่ต่ำ อาจทำให้ตลาดคลายกังวล ดัชนีเงินดอลลาร์อาจลดลง ทำให้เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้บ้าง สำหรับในระยะกลาง-ยาว มองว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าได้ ตามแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากสหรัฐฯ ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์อ่อนค่า โดยมองกรอบเงินบาทปลายปีที่ราว 32.50-33.50
นายแพททริก ปูเลีย รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงินและ Head of Private Banking Relationship Management ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เงินบาทในเดือนที่ผ่านมายังเคลื่อนไหวในกรอบ 33.50-34.00 แม้มีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว และการประกาศมาตรการ Tariffs ของสหรัฐฯ โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหวส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าราว 10 สตางค์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี พบว่าเงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าได้หลังจากนั้น และยังเคลื่อนไหวในกรอบเดิม ส่วนการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ล่าสุดได้ประกาศขึ้นภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่อัตรา 25% นั้น พบว่าดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐไม่แข็งค่าขึ้นมากนัก และเงินบาทก็ไม่อ่อนค่าเร็วเช่นกัน เนื่องจากทรัมป์ได้ประกาศว่าการเก็บภาษีตอบโต้ในวันที่ 2 เม.ย. นี้ อาจไม่รุนแรงเท่าที่ตลาดกังวล จึงทำให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินบาทไม่ผันผวนมากนัก
ความผันผวน (Implied volatility) ที่ลดลงนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเงินยูโร เงินเยน หรือแม้แต่เงินแคนาเดียนดอลลาร์ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ โดยตรง เพราะ Tariffs ยังมีความไม่แน่นอนสูง และเปลี่ยนแปลงไปมาบ่อยครั้ง จึงทำให้ผู้ร่วมตลาดรอความชัดเจนและเลื่อนการตัดสินใจบริโภค/ลงทุนออกไป นอกจากนี้ เงินบาทที่ยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบเป็นเพราะ ช่วงที่ผ่านมา Volume การซื้อ/ขายเงินบาทต่อดอลลาร์เริ่มลดลง โดยยังไม่เห็นการเบรกแนวต้าน/แนวรับที่สำคัญของ USDTHB ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการแลกสกุลเงินออกไป สำหรับในระยะต่อไปมองว่าตลาดน่าจะยังไม่มีภาวะ Panic อีกทั้ง ล่าสุดพบว่ามีผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้า/ส่งออกทยอยขาย USD ออกมา ซึ่งช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทไว้ได้บ้าง โดยการขาย USD นี้ส่วนหนึ่งมาจากรายได้จากการเร่งส่งออกสินค้าไปก่อนที่จะมีการประกาศมาตรการ Tariffs ในเดือน เม.ย. นอกจากนี้ ยังมี ธปท. ที่พร้อมพร้อมเข้าดูแลค่าเงินบาทในช่วงที่ตลาดผันผวนสูงอีกด้วย
ในระยะสั้นนี้ มาตรการ Tariffs จะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้ โดยต้องจับตาการประกาศภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ซึ่งหากไทยถูกเก็บพร้อมประเทศอื่นด้วย ก็อาจทำให้เงินอ่อนค่าแตะ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ สหรัฐฯ เตรียมประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ในวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งนายแพททริกมองว่า สหรัฐฯ อาจเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากไทยที่Effective tariffs rate ราว 6-7% เนื่องจาก ขณะนี้ไทยเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ที่ราว 16.8% (รวม VAT) ขณะที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากไทยที่ราว 9.9% (รวม VAT) จึงทำให้ส่วนต่างภาษีอยู่ที่ราว 7% ทั้งนี้ จากท่าทีของทรัมป์ล่าสุดที่กล่าวว่าการขึ้นภาษีอาจไม่สูงนัก ทำให้มีโอกาสที่ Tariffs จะถูกเรียกเก็บในอัตราที่ต่ำกว่า 7% ได้
ช่วงที่มีการประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ของสหรัฐฯ จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้า/ส่งออก พิจารณาซื้อ/ขาย USDTHB โดยผู้ส่งออกอาจพิจารณาขาย USDTHB เพราะในระยะยาวมองว่าเงินบาทมีโอกาสจำกัดที่จะอ่อนค่าแรงอีกได้ โดยมองกรอบการขายที่ราว 34.20-34.50 บาทต่อดอลลาร์ สำหรับผู้นำเข้า อาจพิจารณาซื้อ USDTHB บางส่วนก่อนที่จะมีประกาศมาตรการภาษี และอาจลุ้นว่า หากสหรัฐฯ ขึ้น Tariffs ในอัตราที่น้อย ทำให้ตลาดคลายกังวล ดัชนีเงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลง ทำให้เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้บ้าง นอกจากนี้ หากเลขจ้างงานสหรัฐฯ ที่จะออกปลายสัปดาห์นี้ ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจทำให้บาทกลับมาแข็งค่า โดยอาจเข้าซื้อ USDTHB ได้ที่ราว 33.50-33.80
นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในระยะกลาง-ยาว SCB FM มองว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าได้ ตามแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากสหรัฐฯ ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์อ่อนค่า โดยนับตั้งแต่ต้นปีนี้ Dollar position ปรับลดลงต่อเนื่อง จนล่าสุดเป็น Net short position ขณะที่เงินยูโรกลับมาแข็งค่าเร็ว โดยประเด็นที่ทำให้มุมมองตลาดเปลี่ยนไป คือ 1) มุมมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แย่ลง ส่งผลให้ตลาดประเมิน Recession risk สูงขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ค่าเงินดอลลาร์ และ US Treasury yields ปรับลดลงในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 2) การออกมาตรการภาครัฐขนาดใหญ่ในยุโรป โดยเฉพาะในเยอรมนี ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Government bond yields) ของยุโรปปรับสูงขึ้น และเงินยูโรแข็งค่าเร็ว พัฒนาการดังกล่าวส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ เข้าตลาดยุโรปมากขึ้น และตลาด EM บางส่วน (เช่น จีน) และพบว่า เงินทุนที่ไหลออกไปบางส่วนเป็น ETFs ซึ่งมักจะไม่มีไม่ hedge ค่าเงิน จึงส่งผลให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้นเร็ว
คาดว่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่ราว 32.50-33.50 ณ ปลายปีนี้ ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยมองว่ามาตรการ Tariffs ของสหรัฐฯ อาจยังไม่ทำให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าได้อย่างยั่งยืน เนื่องจาก โอกาสเกิด Supply-chain reallocation ในระยะสั้นยังมีน้อย เพราะ Effective tariffs ที่สูงขึ้นราว 10-15% อาจยังไม่สูงพอที่จะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตกลับเข้าสหรัฐฯ ได้ สำหรับทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้าย เริ่มเห็นกลับมาไหลเข้าตลาดบอนด์ไทยในเดือน มี.ค. สอดคล้องกับทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายโลก ที่มีการ Rebalance ออกจากตลาดสหรัฐฯ เข้าสู่ยุโรปและจีน ซึ่ง Trend นี้จะเป็นอีกปัจจัยที่ support เงินบาทได้ในระยะกลาง-ยาว
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล มองว่าอาจลดลงต่อได้เล็กน้อยตามการลดดอกเบี้ยของ กนง. โดยมองว่าจะลดอีก 2 ครั้งในปีนี้ (การประชุมเดือนมิถุนายน และตุลาคม) ส่วนแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับลดลงต่อได้ จาก 1) การลดดอกเบี้ยของ Fed จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอลง โดยคาดว่าจะลด 2 ครั้งในปีนี้ 2) กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จำกัดปริมาณการออกบอนด์ ทำให้ Supply จะไม่สูงขึ้น 3) กระทรวงการคลังสหรัฐฯ มีการปรับเกณฑ์ธนาคารพาณิชย์ (เช่น supplementary leverage ratio) ทำให้ความต้องการพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีสูงขึ้น และ 4) การขาดดุลการคลังอาจไม่สูงเท่าที่เคยประเมิน จากการดำเนินการของหน่วยงาน DOGE ของอีลอน มัสก์