ไทยออยล์ ยกเลิกสัญญา โครงการ CFP กับกลุ่มผู้รับเหมาหลักกิจการร่วมค้าข้ามชาติแล้ว เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามสัญญา ยันไม่กระทบแผนจัดจ้าง 

นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไทยออยล์ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า เกี่ยวกับโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project ;CFP ) ว่าตามที่บริษัทฯ ได้เข้าทำสัญญาการออกแบบ วิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้าง (Engineering, Procurement and Construction) ลงวันที่ 19 ต.ค.61 และที่มีการแก้ไขสัญญา EPC กับกลุ่มกิจการร่วมค้าระหว่าง PSS Netherlands B.V. และกลุ่ม unincorporated joint venture ของบริษัท Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. บริษัท Petrofac South East Asia Pte. Ltd. และบริษัท Saipem Singapore Pte. Ltd. (“ผู้รับเหมา”)

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 เม.ย.68 ไทยออยล์ ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา EPC โดยมีผลทันที เนื่องจากผู้รับเหมาไม่ปฏิบัติตามภาระผูกพันในสัญญา EPC บริษัทฯ ขอยืนยันว่าการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา EPC จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จ โดยจัดทำแผนงานเพื่อดำเนินการให้โครงการ CFP แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2571 และได้มีการจัดจ้าง ที่ปรึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์เพื่อเสริมสร้างการบริหารจัดการโครงการด้านวิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ และให้การสนับสนุนบริษัทฯ ในการบริหารจัดการโครงการในแต่ละระยะจนแล้วเสร็จ โดยผู้รับเหมาที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่เพื่อให้การดำเนินงานก่อสร้างโครงการ CFP แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามแผนงานของบริษัทฯ ทั้งนี้ บริษัท ยังคงมุ่งมั่นดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัท ฯ และผู้ถือหุ้น รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) แจ้งว่าความคืบหน้าการเข้าซื้อหน่วยผลิตไฟฟ้า (Energy Recovery Unit : ERU) จากไทยออยล์ ว่า การบอกเลิกสัญญา EPC โครงการ CFP ของไทยออยล์ ไม่มีผลกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุนของบริษัทฯ ภายใต้สัญญาต่าง ๆ ของโครงการ ERU ทั้งนี้ การโอนกรรมสิทธิ์โครงการ ERU จะเกิดขึ้นเมื่อการก่อสร้างโครงการเสร็จสิ้นและได้รับหนังสือรับรองผลงานการก่อสร้าง (Provisional Acceptance Certificate : PAC) เรียบร้อยแล้วคาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2572 อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ อยู่ระหว่างการหารือกับไทยออยล์ละจะดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามประกาศรายการที่เกี่ยวโยงกันและ/หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ เดิม CFP มูลค่าการลงทุน ประมาณ 4,825 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 160,279 ล้านบาท และที่ประชุมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2568 ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 อนุมัติการเพิ่มเงินลงทุนในโครงการ CFP เป็นจํานวนเงินประมาณ 63,028 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 1,776 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 17,922 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 505 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดของโครงการ CFP เป็นจํานวนเงินประมาณ 241,472 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 7,151 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 37,216 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 1,078 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2565 ได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมในการดําเนิน โครงการ CFP และอนุมัติให้บริษัท ลงนามในสัญญาแก้ไขสัญญา EPC กับผู้รับเหมาหลัก โดยเพิ่มงบประมาณของโครงการอีกประมาณ 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18,165 ล้านบาท และขยายระยะเวลาการดําเนินโครงการไปอีก 24 เดือน ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา EPC เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท และเพื่อให้สามารถดําเนินโครงการ CFP ต่อไปให้แล้วเสร็จ ปัจจุบันหน่วยกําจัดกํามะถันในนํ้ามันดีเซลที่ 4 (Hydrodesulfurization Unit : HDS-4) ได้ประสบความสําเร็จในการทดลองเดินเครื่องจักรและผลิตนํ้ามันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ทันต่อการตอบสนองต่อนโยบายการใช้นํ้ามันมาตรฐานยูโร 5 ที่ภาครัฐมีการประกาศบังคับใช้ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์ที่ผู้รับเหมาหลักไม่ชําระเงินค่าจ้างค้างจ่ายให้กับผู้รับเหมาช่วง ที่ผู้รับเหมาหลักจ้างให้ทํางานในการก่อสร้างโครงการ CFP จนทําให้ผู้รับเหมาช่วงหยุดงานหรือลดจํานวนคนงานลง จากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทจึงต้องพิจารณาทางเลือกในการดําเนินโครงการให้แล้วเสร็จ ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมโดยให้ที่ปรึกษาด้านเทคนิค (Technical Advisor) มาตรวจสอบและวิเคราะห์การก่อสร้างที่เหลืออยู่ของโครงการ จากรายงานการตรวจสอบและวิเคราะห์ของที่ปรึกษาด้านเทคนิค เห็นว่าการที่จะก่อสร้างโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 63,028 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 1,776 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ หากการดําเนินโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จจะทําให้บริษัทมีหน่วยกลั่นนํ้ามันดิบใหม่ที่มีขนาดกําลังการกลั่นสูงทดแทนหน่วยกลั่นเดิม ส่งผลให้กําลังการกลั่นนํ้ามันดิบของบริษัท เพิ่มขึ้นจากเดิม 275,000 บาร์เรลต่อวันเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles