ศูนย์วิจัย SCB EIC ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยบทความสินเชื่อภาคเอกชนไทยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจมากแค่ไหน? พบว่า สำหรับไทย สินเชื่อภาคเอกชนของเราเป็นสินเชื่อครัวเรือนมากถึง 53% สูงกว่าค่าเฉลี่ยภายในกลุ่มตัวอย่างที่มีเพียง 38% อย่างมีนัยสำคัญ กลายเป็นที่มาของปัญหา ‘หนี้ครัวเรือน’ ที่กำลังฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในปัจจุบัน นั่นหมายถึง สินเชื่อภาคเอกชนไทยกลับสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศอื่น สะท้อนจากรายได้ต่อหัวของไทยที่อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศที่มีสัดส่วนสินเชื่อภาคเอกชนต่อ GDP ใกล้เคียงกัน เช่น ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และมาเลเซีย
คนในระบบเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหารายได้เติบโตช้า ไม่สม่ำเสมอ และไม่แน่นอน ขณะที่รายจ่ายตัดลดได้ยาก ปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายทำให้คนในระบบเศรษฐกิจไทยต้องขอสินเชื่อครัวเรือนมาใช้จ่ายและชำระหนี้ แต่ยิ่งก่อหนี้ รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ซ้ำเติมปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย
การขยายสินเชื่อภาคเอกชนจะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มศักยภาพหากขยายสินเชื่อครัวเรือนและสินเชื่อธุรกิจในอัตราส่วนที่เหมาะสม สินเชื่อครัวเรือนและสินเชื่อธุรกิจต่างมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หากมีสินเชื่อประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป ระบบเศรษฐกิจอาจไม่ได้จัดสรรทรัพยากรการเงินไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์สูงสุด อีกทั้งอาจเป็นที่มาของความเปราะบางภายในระบบเศรษฐกิจการเงิน
หากมีสินเชื่อครัวเรือนมากเกินไป สถาบันการเงินจะเผชิญกับความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ จึงต้องโยกย้ายทรัพยากรเงินที่มีมาเพื่อตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญ และจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อทุกประเภท สถาบันการเงินจึงขยายสินเชื่อธุรกิจน้อยลงตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังหมายถึงระบบเศรษฐกิจจัดสรรทรัพยากรทางการเงินไปสนับสนุนการบริโภคมากเกินไป ขณะที่สนับสนุนการลงทุนน้อยเกินไป จะได้เห็นว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเกินไป อาจไม่สำคัญเท่ากับว่าสัดส่วนสินเชื่อครัวเรือนและสินเชื่อธุรกิจสมดุลกันมากเพียงใด