ศูนย์วิจัย SCB EIC ซึ่งอยู่ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า แม้ว่ามูลค่าการส่งออกของไทยจะยังคงเติบโตและกลับมาขยายตัว 2.6% ในปี 2567 และ 2.8% ในปี 2568 (คาดการณ์โดย SCB EIC) หลังจากการหดตัว 0.8% ในปี 2566 แต่การเติบโตดังกล่าวได้ชะลอตัวลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ย 5.3% ในทศวรรษก่อนเกิดโควิด สะท้อนการเสื่อมถอยของเครื่องยนต์ส่งออกในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ มูลค่าส่งออกของไทยยังมีทิศทางฟื้นตัวตามโลกน้อยลง เห็นได้จากการส่งออกไทยในช่วงที่ผ่านมาฟื้นตัวสอดคล้องกับปริมาณการค้าโลกน้อยลง หากพิจารณารายหมวดของสินค้าส่งออกไทย พบว่า 11 จาก 13 หมวดสำคัญ (คิดเป็น 76% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด) เติบโตต่ำกว่าอุปสงค์สินค้าส่งออกของโลก
เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งตลาดส่งออกสินค้าไทยที่เติบโตดีกว่าแนวโน้มตลาดโลก พบว่า 1) กลุ่มเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าของไทย รวมถึงส่วนประกอบต่างๆ (ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งที่มีสัดส่วนมากถึง 17% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด) มีส่วนแบ่งในตลาดโลกลดลง ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามกลับเพิ่มขึ้นมากจากที่ไม่ค่อยมีบทบาทในตลาดโลก
และ 2) กลุ่มผลไม้และถั่ว (เป็นสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญหมวดย่อยเดียวที่โตดีกว่าอุปสงค์โลก) มีส่วนแบ่งในตลาดโลกสูงขึ้นจากอดีต แต่คิดเป็นมูลค่าเพียง 2% ของการส่งออกไทยแสดงให้เห็นว่าแม้สินค้าไทยบางกลุ่มยังเติบโตได้ดีและมีส่วนแบ่งในตลาดโลกมากขึ้น แต่กลับมีมูลค่าการส่งออกไม่สูงนักในภาพรวม
ทั้งนี้ สัญญาณเหล่านี้ต่างชี้ให้เห็นว่าการส่งออกของไทยเริ่มชะลอตัวลง และยากที่จะกลับไปมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เช่นในอดีต สร้างความกังวลในวงกว้าง และนำไปสู่คำถามสำคัญว่า เครื่องยนต์การส่งออกของไทยกำลังหมดแรงหรือไม่