กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ เปิดเผยว่า ภาวะแรงกดดันที่มีต่อเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลมาจากสงครามภาษีที่ทวีความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นนั้น จะส่งผลให้หนี้สาธารณะทั่วโลกเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้นจนขึ้นไปเกือบจะ 100% ของมูลค่าขนาดเศรษฐกิจโลกภายในสิ้นสุดทศวรรษนี้ สาเหตุมาจาก ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าที่ทวีความขัดแย้งมากขึ้นต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบต่อข้อจำกัดในการใช้นโยบายการคลังของรัฐบาล
ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะ โลกจะเพิ่มขึ้นอีก 2.8% ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะโลกขยับเพิ่มขึ้นเป็น 95.1% ของมูลค่าขนาดเศรษฐกิจ หรือจีดีพีโลกในปี 2025 นี้ ที่สำคัญแนวโน้มภาวะหนี้สาธารณะโลกจะขยับเพิ่มสูงขึ้นต่อจนกระทั่งถึงภายในปี 2030 สัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 99.6% ของจีดีพีโลก
ไอเอ็มเอฟ เปิดเผยต่อไปว่า ในการคาดการณ์กรณีที่เลวร้ายที่สุดภาวะหนี้สาธารณะโลก จะพุ่งทะยานขึ้นเหนือกว่าระดับ 117% ต่อจีดีพีโลกภายในปี 2027 ถ้าหากรายได้ และผลผลิตทางเศรษฐกิจ ตกต่ำมากเกินกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้จากในปัจจุบัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามภาษีและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง หากกรณีเลวร้ายที่สุดนี้เกิดขึ้นจริง นั่นหมายถึงภาวะหนี้สาธารณะโลกจะขึ้นไปถึงระดับสูงสุดต่อจีดีพีโลกนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
ที่สำคัญ แนวโน้มดังกล่าวภายในปี 2030 นั้น ยังส่งผลให้หนี้สาธารณะโลกเพิ่มขึ้นมากกว่าในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์โรคระบาด โควิด-19 เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเวลานั้นสัดส่วนหนี้สาธารณะโลกทะยานขึ้นแตะที่ระดับ 98.9% ต่อจีดีพีโลก สาเหตุจากในช่วงเวลานั้นทุกประเทศทั่วโลกล้วนตัดสินใจกู้ยืมเงินมาใช้เพื่อฟื้นฟูและพยุงภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโรค โควิด-19 อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงปี 2022 สัดส่วนหนี้สาธารณะโลกได้ลดลงเล็กน้อยราว 10%
สำหรับปัจจัยที่ผลักดันให้สถานการณ์หนี้สาธารณะโลกพยานเพิ่มสูงขึ้นมาจาก การใช้มาตรการภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่ทวีความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง การใช้มาตรการตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าของประเทศคู่ค้าที่อยู่ในระดับรุนแรง และความไม่แน่นอนสูงด้านนโยบายการค้า ทั้งหมดทำให้เกิดภาวะความเสี่ยงสูงขึ้นกับการก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาลในประเทศต่างๆ จึงคาดการณ์ว่า ภาวะการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลประจำปี จะเฉลี่ยอยู่ที่ 5.5% ของจีพีในปี 2025 นี้ จากที่เคยอยู่ในระดับลดลงมาแตะ 3.7% ในปี 2022 อย่างไรก็ตามในปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์โรคระบาด โควิด-19 นั้นตัวเลขดังกล่าวอยู่สูงถึงระดับ 9.5% ของจีดีพี