นางคริสทาลิน่า จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ IMF เปิดเผยว่า การกลับมา และเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันหรือการปกป้องการค้าซึ่งรวมถึงมาตรการภาษีการค้าจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับต้นๆของโลก ได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลมากที่สุดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีสัญญาณของการชะลอตัวอย่างนุ่มนวล ภาวะเงินเฟ้อทยอยลดลง และการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางที่กำลังมาถึง
การค้าโลกกำลังซบเซา และอยู่ในภาวะชะลอตัวที่มากกว่าการชะลอตัวที่ควรจะเป็นไปตามปัจจัยปกติ ไอเอ็มเอฟได้ติดตามการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากในปี 2019 ที่มีการกีดกันการค้าราว 1,000 รายการ เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 รายการในปี 2023 ผ่านมา ที่สำคัญ ยังพบว่า 2 ใน 3 หรือกว่า 66% ของมาตรการภาษีและมาตรการกีดกันอื่นๆ ล้วนไม่มีความสมเหตุสมผลในการประกาศบังคับใช้
ในสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของมาตรการและนโยบายด้านปกป้องอุตสาหกรรม และการค้ามาจากประเทศ หรือเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป และเมื่อไอเอ็มเอฟได้วิเคราะห์แล้ว จะพบว่ามีเพียง 1 ใน 3 หรือกว่า 33% ที่เป็นมาตรการที่สมเหตุสมผล
กรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ IMF กล่าวโลกาภิวัตน์ หรือการค้าไร้พรมแดนทั่วโลกในความเป็นจริงแล้ว อาจไม่ได้ทำให้เกิดความสำเร็จกับคนทุกคน นั่นทำให้ต้องยอมรับเหตุผลบางอย่างที่ว่าทำไมความรู้สึกรักชอบการใช้มาตรการภาษีจึงกลับมาปรากฏขึ้นในทุกวันนี้
การปกป้อง หรือการกีดกันการค้าส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางเศรษฐกิจโลกประกอบด้วยกรณีเลวร้ายที่สุด มีผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวถึง 7% นั่นหมายถึงมีมูลค่าเศรษฐกิจเท่ากับ 2 ประเทศญี่ปุ่น และเยอรมนีรวมกัน และในกรณีดีที่สุดจะกระทบเศรษฐกิจโลกราว 0.2%