17 นักวิชาการยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี-ครม. ย้ำคุณสมบัติ ผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่ ต้องเป็นอิสระจากสถาบันการเงิน ไม่ถูกกดดันให้ลดดอกเบี้ย

เพจเฟชบุ๊ก “เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” โพสต์หนังสือเปิดผนึก ถึงคณะรัฐมนตรี เรื่อง ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เรียน นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี โดยระบุว่า กรณีการเสนอชื่อผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 22 กรกฎาคม 2568 ขอแสดงความห่วงใยและเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้

1.เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะต้องเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว แม้จะเข้าใจได้ว่าโดยธรรมชาติแล้ว รัฐบาลต้องการการเจริญเติบโตของประเทศในระยะสั้น ซึ่งประสบการณ์การของผู้ทำงานธนาคารของรัฐ อาจจะเคยชินในการสนองตอบต่อนโยบายของนักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศ อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเทศชาติต้องการการเติบโตที่มีเสถียรภาพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จึงจำเป็นต้องเป็นบุคคลที่สามารถประคับประคอง และลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการมุ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นของรัฐบาล

2.ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องไม่ถูกกดดันเพื่อลดหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ย หรือเพื่อเปลี่ยนแปลงอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา ตามความต้องการของฝ่ายการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ เพราะจะทำให้นักการเมืองและคนบางกลุ่ม สามารถแสวงหาประโยชน์ในบางโอกาสจนร่ำรวย แต่ประเทศชาติเสียหาย

3.ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องเป็นอิสระจากการกดดันของธนาคารพาณิชย์ ธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐ แต่จะต้องกำกับดูแลสถาบันการเงินเพื่อประโยชน์ของประเทศระยะยาว

4.ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องได้รับการยอมรับระหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์การการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนและสถาบันของต่างประเทศเกิดความมั่นใจที่จะทำธุรกิจและพันธสัญญาในระยะยาว

5.ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องเข้าใจการพัฒนาประเทศในระดับมหภาค และการปรับโครงสร้างเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อลดช่องว่างและความแตกต่างทางรายได้ของคนในสังคม มากกว่าความเข้าใจในระดับจุลภาคหรือโครงการ เพราะนั่นเป็นบทบาทเฉพาะของธนาคารของรัฐ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลเฉพาะจุด

ด้วยเหตุผลที่กล่าวอ้างมา จึงขอเรียกร้องและเสนอแนะว่า ในครั้งนี้ผู้ที่เคยผ่านงานมีประสบการณ์ของการทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมาก่อน น่าจะเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากจะมีคุณสมบัติส่วนตนที่โดดเด่นเป็นที่ยอมรับกับนานาประเทศ เป็นที่ยอมรับกับผู้บริหารและบุคลากรภายในธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ยังเป็นสิ่งจูงใจให้คนในธนาคารแห่งประเทศไทยได้พัฒนาตนจนถึงระดับสูงสุดของหน่วยงาน สำหรับผู้พลาดโอกาสที่ฝ่ายการเมืองบางกลุ่มผลักดัน ยังมีโอกาสที่จะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ในส่วนที่มีความสามารถประสบการณ์อันจะทำประโยชน์ให้กับประเทศ ได้อย่างดียิ่งต่อไป

ท้ายหนังสือเปิดผนึก ลงชื่อ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ จำนวน 17 รายชื่อ ได้แก่

1. รศ.ดร. อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

2. รศ.ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

3. รศ.ดร. ชิดตะวัน ชนะกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มก.

4. ศ.ดร.ปราณี ทินกร คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

5.  รศ.ดร. สิริลักษณา คอมันตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

6. รศ. ดร. สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

7. รศ.วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

8.ผศ.จินตนา เชิญศิริ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

9.รศ. ดร. ดาว มงคลสมัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

10.รศ.พรพิมล สันติมณีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

11. รศ.ดร.ลิลี โกศัยยานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

12. รศ.ดร.เพลินพิศ สัตย์สงวน คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

13.ผศ.จรินทร์  พิพัฒนกุล คณะ เศรษศาสตร์ มธ

14. รศ.ชูศรี มณีพฤกษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

15. รศ.สุขุม อัตวาวุฒิชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

16. อาจารย์ สุพรรณ นพสุวรรณชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

17. รศ.มณีรัตน์ ภิญโญภูษาฤกษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles