2 แบงก์ยักษ์ฟาดกำไรสุดจุกรวมกันเฉียด 75,000 ล้าน พุ่งกว่า 37% ของคาดการณ์กำไรปี 66

2 แบงก์ ธนาคาร ยักษ์ฟาด กำไร สุดจุกรวมกันเฉียด 75,000 ล้าน พุ่งกว่า 37% ของคาดการณ์กำไรปี 66

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อย เปิดเผยรายงานกำไรสุทธิสำหรับปี 2566 จำนวน 41,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.1% จากปี 2565 สาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 28.0% โดยอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยสุทธิกับต้นทุนเงินรับฝากที่ทยอยเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก รวมถึงการปรับอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าสู่ระดับเดิมตั้งแต่ต้นปี 2566 ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ หรือความสามารถการหารายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) อยู่ที่ 3.02%

ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงเล็กน้อย จากธุรกิจหลักทรัพย์ตามปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลง ขณะที่ค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม และธุรกิจบัตรเครดิตปรับตัวดีขึ้น

สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 18.5% ตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และส่วนหนึ่งจากค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานลดลงอยู่ที่ 48.8%

ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารมีการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาส 4 ปี 2566 ธนาคารจึงตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 18.1% จากไตรมาสก่อน ส่งผลให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566 มีจำนวน 33,666 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน

ธนาคารกรุงเทพ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,671,964 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อน ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 จำนวน 3,184,283 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปีก่อน และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 83.9%

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ รายงานผลประกอบการสำหรับปี 2566 มีกำไรสุทธิในปี 2566 จำนวน 32,929 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2% หรือ 2,216 ล้านบาท จากปี 2565 โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิของพอร์ตสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศที่ควบรวมแล้วเสร็จในปี 2566

ที่น่าสนใจ คือ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เพิ่มขึ้นมาที่ 3.91% จาก 3.45% ในปี 2565 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการควบรวมธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศ แม้ต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้นก็ตาม

เงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 3.5% หรือจำนวน 67,795 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2565 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของสินเชื่อเพื่อธุรกิจในประเทศ และสินเชื่อเพื่อรายย่อยโดยเฉพาะในส่วนที่มาจากบริษัทลูกในต่างประเทศ หากไม่รวมธุรกิจในต่างประเทศที่เพิ่งควบรวม เงินให้สินเชื่อรวมเติบโต 16,611 ล้านบาท หรือ 0.9% ส่วนเงินรับฝาก เพิ่มขึ้น 1.9% หรือจำนวน 34,909 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2565 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากประจำ สุทธิกับการลดลงของเงินฝากออมทรัพย์

ขณะที่ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.53% เทียบกับ 2.32% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 โดยการตั้งสำรองสำหรับบริษัทลูกในต่างประเทศ ตามนโยบายบริหารจัดการความเสี่ยงที่เข้มงวดระมัดระวัง ส่งผลให้สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 175 เบสิสพอยท์

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles