นายพีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ขอความสนับสนุนให้ผ่อนผันมาตรการหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย Loan to Value หรือ LTV เช่นเดียวกับปี 2565 ที่การขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไป สามารถขอกู้ได้ 100% มีเนื้อหาระบุว่า
เรียน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศการใช้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย Loan to Value : LTV ใน ปี 2562 ซึ่งต่อมาในปี 2563 ถึง 2565 เกิดสถานการณ์โควิค -19 ขึ้น และธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีมาตรการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย LTV ในช่วงปี 2565 ตามที่ทราบแล้วนั้น โดยหลักเกณฑ์การผ่อนคลายดังกล่าวได้ถูกยกเลิกในปี 2566
ทั้ง 7 องค์กรประกอบด้วย สมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอสังหาริมาทรัพย์ไทย สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน สมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ และ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย มีความเห็นว่า ภาคเศรษฐกิจโดยรวม และภาค ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังมีการฟื้นตัวที่ไม่แข็งแรง จึงใคร่ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาผ่อนคลายหลักเกณฑ์ LTV เป็นการ ชั่วคราว ในปี 2567 เช่นเดียวกับหลักเกณฑ์ ตามประกาศเลขที่ สนสวง90-คส20001-25641020 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีกำลังซื้อสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้นและส่งผลดีต่อธุรกิจเชื่อมโยง ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ทั้ง 7 องค์กรมีความเห็นว่า แม้จะมีมาตรการผ่อนคลายของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว สถาบันการเงินต่างๆ ก็ยังคง พิจารณาสินเชื่อด้วยความรอบคอบ เข้มงวด และคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้เป็นหลัก เพื่อมิให้เกิด Non-Performing Loan : NPL ตามมา โดยเห็นได้จากอัตราการปฏิเสธสินเชื่อซึ่งมีจำนวน 40-60% (ขึ้นอยู่กับประเภทที่อยู่อาศัย)ในขณะเดียวกันตลาดที่อยู่อาศัยในขณะนี้ก็มิได้มีการซื้อเพื่อการเก็งกำไรแต่อย่างใด
ทั้ง 7 องค์กรจึงขอนำเรียนมายังท่านเพื่อโปรดพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย LTV เป็นการชั่วคราว
นายพีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวต่อไปว่า ปี 2567 เศรษฐกิจยังชะลอตัวต่อเนื่อง หากแบงก์ชาติผ่อนผันมาตรการ LTV จะมีผลกระทบทำให้ตลาดรวมเติบโตได้ 15% ซึ่งจะช่วยหนุนให้จีดีพีโตได้ 4% แต่ถ้าแบงก์ชาติไม่มีการผ่อนผันมาตรการ LTV ในปีนี้ ประเมินว่าแนวโน้มตลาดรวมอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 นี้ อาจจะติดลบ 15-20%
ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลนั้น เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ปี 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์
โดยมาตรการดังกล่าวจะให้ลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1 และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน)
สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ และห้องชุด (ทั้งบ้านมือ 1 และมือ 2) เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567