ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB เปิดเผยรายงานว่า จำนวนผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกนั้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จากเดิมในปี 2022 ที่ 567.7 ล้านคนในปี 2565 ขึ้นมาเป็น 1,200 ล้านคนในปี 2593 หรือ ประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้มีความต้องการโครงการบำนาญ สวัสดิการ และบริการด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นายอัลเบิร์ต พาร์ค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB เปิดเผยว่า มี 40% ของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกไม่สามารถเข้าถึงเงินบำนาญทุกรูปแบบ ผู้หญิงสูงวัยได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชายสูงวัย เนื่องจากผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน เป็นผลให้ผู้สูงอายุจำนวนมากในภูมิภาคไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องทำงานเกินวัยเกษียณเพื่อความอยู่รอด ผู้ที่ยังคงทำงานเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป พบว่า 94% ทำงานอยู่นอกระบบ ซึ่งโดยทั่วไปไม่ได้รับการคุ้มครองแรงงานขั้นพื้นฐานหรือสวัสดิการเงินบำนาญ
ผู้สูงอายุประมาณ 60% ในเอเชียและแปซิฟิกไม่เข้าร่วมหรือรับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ขณะที่ 31% มีอาการซึมเศร้าเนื่องจากการเจ็บป่วย การแยกตัวทางสังคม และความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ผู้หญิงสูงวัยในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาสุขภาพไม่ดีมากกว่าผู้ชายสูงวัย ตั้งแต่ภาวะซึมเศร้า เบาหวาน และความดันโลหิตสูง
ทั้งนี้ การคุ้มครองแรงงานขั้นพื้นฐานควรครอบคลุมไปถึงแรงงานสูงวัยที่อยู่นอกระบบด้วย การทำให้ผู้เกษียณอายุภาคบังคับมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี และมอบโอกาสในการทำงานที่เหมาะสม รวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการพัฒนาทักษะ เศรษฐกิจในภูมิภาคสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุมีประสิทธิผลการทำงานได้นานขึ้น