AOT แจง ตลาดหลักทรัพย์ ปม คิงเพาเวอร์ เลื่อนจ่ายค่าตอบแทน เหตุเพราะขาดทุน ยันไม่ได้แก้สัญญา มติบอร์ดเคาะปรับโครงสร้างหนี้

นายกฤช ภาคากิจ เลขานุการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. หรือAOT ในฐานะผู้มีอำนาจรายงานสารสนเทศ ทำหนังสือแจ้งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อชี้แจงกรณีผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์และสายการบินเผชิญสภาพคล่องตกต่ำ ความว่า

ตามที่ปรากฏหัวข้อข่าว “คิงเพาเวอร์เผชิญสภาพคล่องตกต่ำ จับตาอาจต้องแก้สัญญาเพิ่ม” นั้น บริษัท ขอชี้แจงว่า ทอท.มิได้ทำการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่มีกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ จากกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด และยังคงดำเนินการตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง โดย ทอท.ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังนี้

1.สารสนเทศดังกล่าวได้ระบุถึง ความเห็นของนักวิเคราะห์ที่ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารของ ทอท. โดย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุว่า ปัญหาสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์อาจมีผลกระทบต่อรายได้ของ ทอท. หากสถานการณ์นี้ยังยืดเยื้อ ซึ่งอาจนําไปสู่การเจรจาปรับเงื่อนไขเกี่ยวกับข้อตกลงสัมปทาน โดยเฉพาะในเรื่องค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee)  ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของ ทอท.จากการสัมปทานดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันรายได้จากสัมปทานมีสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 33 ของรายได้รวมที ่ ทอท.คาดว่าจะได้รับในปีงบประมาณ 2568 และยังเป็นแหล่งกําไรหลักของ ทอท. หากมีการปรับเงื ่อนไขสัมปทานจริง อาจส่งผลกระทบต่อประมาณการกําไรของ ทอท. ในด้านการลงทุน CGSI มองว่าสถานการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่แน่นอน ซึ่งอาจทำให้เกิดความกังวลจากนักลงทุน โดยคาดว่าราคาหุ้นของ ทอท.อาจได้รับแรงกดดันในเชิงลบในระยะสั้น เช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จํากัด (มหาชน) หรือ KS ระบุว่า ทอท.กําลังเผชิญกับปัญหาลูกหนี้การค้าที่เพิ่มขึ้น จากการที่ผู้รับสัมปทานขอเลื่อนการชําระเงินออกไปอีก 18 เดือน โดยระหว่างนี้ผู้รับสัมปทานจะต้องจ่ายค่าปรับในอัตราประมาณร้อยละ 18 ต่อปี

2.ทอท.ขอชี้แจงว่า บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) มีหนังสือถึง ทอท. ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2567 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์เลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) โดยระบุว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในหลายประเทศตั้งแต่ต้นปี 2563 ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย รวมถึง KPD ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างรุนแรง เนื่องจากรัฐบาล ได้ออกข้อกำหนดในการจำกัดและควบคุมการเดินทางอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารลดลงอย่างมาก ทำให้ KPD ไม่สามารถดำเนินธุรกิจตามสัญญาได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ KPD ประสบปัญหาสถานการณ์โควิด-19 นั้น KPD ก็พยายามประคับประคองธุรกิจให้ดำเนินการต่อ เพื่อให้ธุรกิจรวมถึงพนักงานทุกคนสามารถอยู่รอดในสภาวะที่ยากลำบากนี้ อันเกิดจากการที่ร้านค้าจำหน่ายสินค้าปลอดอากรต้องปิดร้านค้าชั่วคราวตามคำสั่งของรัฐบาลอันเนื่องมาจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 และเป็นเหตุให้พนักงานขายต้องขาดรายได้หลัก และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพอย่างมาก

แต่ด้วยความอนุเคราะห์ของ ทอท. ที่ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ ในสนามบิน โดยการให้ผู้ประกอบการฯ เลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ จากการที่ KPD ได้รับมาตรการการเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนจาก ทอท. KPD จึงสามารถดูแลและเยียวยาพนักงานของ KPD ได้จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ของ โรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แต่ KPD ยังคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง และไม่สามารถฟื้นคืนธุรกิจได้อย่างเต็มที่ตามที่เคยประเมินไว้ รวมถึงความจําเป็นที่ต้องลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อการปรับปรุง ก่อสร้าง ติดตั้งระบบต่าง ๆภายในอาคารผู้โดยสาร ทสภ., ทภก. และ ทดม. เป็นผลให้ KPD ประสบปัญหาสภาพคล่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานอกเหนือจากนั้น การที่สถาบันการเงินมีนโยบายไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม รวมถึงการทยอยครบกำหนดชำระหนี้ต่าง ๆ

กับสถาบันการเงิน และค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ครบกำหนดชำระให้แก่ ทอท. (งวดปกติและงวดที่ถึงกำหนดชําระจากการเลื่อนชําระ) และการชําระค่าสินค้าที่ได้สั่งซื้อไว้กับ Supplier (ซึ่งเป็นหัวใจหลักเพื่อให้มีสินค้าไว้จําหน่าย) ทำให้สถานะทางการเงินของ KPD ที่มีภาระต้องชําระค่าภาระต่าง ๆ เกิดการกระจุกตัวในช่วงที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้นจำนวนค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ KPD ต้องชําระให้แก่ ทอท.นั้น คิดเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงจากการที่ประมาณการเติบโตของยอดใช้จ่ายของผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ เนื่องจากประมาณการที่เติบโตฯดังกล่าวประเมินจากสถานการณ์ก่อนเกิดวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 เป็นผลให้สัดส่วนค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก เมื่อเทียบกับรายได้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยอดขายสินค้าปลอดอากรต่อผู้โดยสารก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เนื่องจากการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้โดยสารระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นและการใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าปลอดอากรก็เติบโตน้อยลงกว่าที่ได้ประมาณการไว้ จากเหตุผลดังกล่าวเป็นเหตุให้รายได้ ของ KPD ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และประสบกับปัญหาขาดทุน โดยในปี 2566 ขาดทุนถึงจำนวน 651,512,785 บาท ซึ่ง KPD ได้พยายามดำเนินการในหลากหลายรูปแบบเพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 จนถึงปัจจุบัน KPD ก็ยังคงประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอด

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว KPD จึงมีความจําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขอความอนุเคราะห์จาก ทอท. ในการเลื่อนการชําระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำซึ่งครบกำหนดชําระตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2568 (รวม 12 งวด) ออกไปเป็นระยะเวลางวดละ 18 เดือน ซึ่งจะทำให้ KPD มีระยะของช่องว่าง ทางการเงินที่เพียงพอกับการฟื้นฟูให้สภาพคล่องของ KPD กลับเข้าสู่สภาวะปกติอีกครั้ง รวมถึงการขอเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนนับแต่งวดชําระปลายเดือนสิงหาคม 2567 นั้น สืบเนื่องมาจากช่วงดังกล่าวเริ่มเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว (Peak Season) KPD คาดการณ์ว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในช่วง Peak Season ดังนั้น KPD จึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อการสั่งซื้อสินค้ามาจําหน่ายเพิ่มเติม เพื่อรองรับผู้โดยสารที่มาใช้บริการ ณ ทสภ. ทภก. และ ทดม. ในช่วงดังกล่าว และเพื่อให้สามารถผลักดันยอดรายได้จากฤดูกาลท่องเที่ยวที่กําลังจะมาถึงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ นอกจากนี้ การเลื่อนชําระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำดังกล่าวจะทำให้ KPD ไม่มีภาระเพิ่มเติมในช่วงระหว่างการเลื่อนชําระ และจะทำให้ KPD สามารถแก้ปัญหาสภาพคล่องในปัจจุบันตามที่กล่าวข้างต้นได้ โดย KPD คาดหวังว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และจะทำให้สภาพคล่อง ทางการเงินดีขึ้นตามลำดับ และกลับเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงปี 2569

ทั้งนี้ KPD ใคร่ขอเรียนว่าการขอเลื่อนการชําระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตามที่กล่าวข้างต้นนั้น เกิดจากผลกระทบจากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นพร้อมกันและต่อเนื่อง (ตามข้อเท็จจริงที่เรียนไว้ข้างต้น)อันเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ของสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ไม่คาดคิดและเป็นเหตุสุดวิสัยที่ KPD ไม่สามารถควบคุมได้จนส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (ถึงแม้สถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับก็ตาม) ทำให้รายได้ของ KPD
ไม่เป็นไปตามที่ KPD คาดการณ์ไว้และนํามาสู่ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้

3. ทอท.ได้พิจารณาหนังสือดังกล่าวจาก KPD ตามข้อ 2 แล้ว และได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผลประกอบการตามสัญญา พบว่าสัดส่วนค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของ KPD อยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก เมื่อเทียบกับรายได้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยอดขายสินค้าปลอดอากรต่อผู้โดยสารก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จึงมีความเห็นว่าKPD ประสบปัญหาสภาพคล่องตามที่ได้ระบุในหนังสือฯ จริง และการดำเนินการดังกล่าวเป็นการแจ้งการผิดนัดชำระหนี้ตามเงื่อนไขในสัญญา ซึ่งไม่เกิดความเสียหายแก่ ทอท. แต่เนื่องจากสัญญาได้ระบุค่าปรับผิดนัดชำระไว้ที่ร้อยละ 18 ทอท.จึงแจ้งต่อคู่สัญญา ตามหนังสือที่ ทอท.16818/2567 อนุญาตให้ KPD เลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ของเดือนกันยายน 2567 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ออกไปเป็นระยะเวลางวดละ 18 เดือน โดยไม่ยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับจากการเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าว

4.ที่ผ่านมา ในปี 2567 ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์และสายการบิน ณ ท่าอากาศยานของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง เช่น กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าเชิงพาณิชย์ ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากร (Duty Free)กลุ่มผู้ประกอบการรถเช่า สายการบินบางราย และบริษัทร่วม ต่างประสบปัญหาในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ดังระบุในข้อ 3 เป็นผลให้ ในปี 2567 มีผู้ประกอบการกว่า 70 ราย ขอเลื่อนชำระ/ผ่อนชำระ ขอยกเลิก ประกอบกิจการ ขอลดขนาดพื้นที่ จากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้ประกอบการฯ สายการบิน หรือคู่ค้าอื่น ๆ ของ ทอท.ประสบปัญหาจากการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ทอท. เช่น ผลประกอบการขาดทุน จนทำให้สภาพคล่องไม่เพียงพอที่จะชำระค่าใช้จ่ายให้แก่ ทอท.ตามกำหนด ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการฯ ของ ทอท.โดยเฉลี่ยมีการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำสูงกว่าอัตราส่วนแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) เกินกว่าร้อยละ 50 ในการนี้ผู้ประกอบการฯ บางส่วนจึงได้แสดงเจตนาพร้อมเหตุผลและข้อมูลสนับสนุนเพื่อขอผ่อนชำระ ขยายระยะเวลาการชำระเงิน หรือปรับโครงสร้างการชำระเงิน โดย ทอท.ได้พิจารณาถึงผลกระทบต่อ ทอท.แล้ว พบว่าการอนุญาตให้ผู้ประกอบการฯ ปรับโครงสร้างการชำระเงินจะเป็นประโยชน์กับ ทอท.มากกว่าการไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการฯดำเนินการตามที่ร้องขอ รวมทั้งดีกว่าการยกเลิกสัญญาและทำการประมูลใหม่ เนื่องจากอาจทำให้ ทอท.ได้รับค่าผลประโยชน์ตอบแทนต่ำกว่าที่เคยได้รับอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ผ่านมา ทอท.จะเรียกเก็บค่าปรับจากการผิดนัดชำระที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขสัญญาในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราค่าปรับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเบี้ยปรับของรัฐวิสาหกิจอื่น และสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่กำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2564 ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี อย่างมีนัยสำคัญ

5. ดังนั้น เพื่อให้ ทอท.ยังสามารถรักษาผู้ประกอบการฯ และสายการบินที่มีศักยภาพ แต่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างต่อเนื่องภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงสถานการณ์สงครามในยูเครนและอิสราเอล ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทอท.จึงได้จัดทำโครงการขยายระยะเวลาชำระเงินของผู้ประกอบการฯ และสายการบิน ณ ท่าอากาศยานของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง ที่เผชิญ สภาพคล่องตกต่ำ เสนอคณะกรรมการ ทอท. ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ ดังกล่าว โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

5.1.1 ผู้ประกอบการฯ และสายการบินจะต้องมีหนังสือแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ล่วงหน้าก่อนวันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญา พร้อมทั้งต้องแสดงเหตุผลของการขาดสภาพคล่องให้ ทอท.พิจารณาภายในวันที่ 30 กันยายน 2568

5.1.2 ผู้ประกอบการฯ และสายการบินที่ขอเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องมีหลักประกันสัญญาและวงเงินของหลักประกันสัญญาต้องครอบคลุมเงินต้นรวมกับค่าปรับจากการผิดนัดชำระในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี

5.1.3 ผู้ประกอบการฯ และสายการบินจะสามารถเลื่อน และ/หรือแบ่งชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทน หรือค่าบริการสนามบิน (Landing and Parking Charges) โดยระยะเวลาที่ขอเลื่อน และ/หรือแบ่งชำระงวดสุดท้ายจะต้องสิ้นสุดไม่เกินอายุสัญญาและไม่เกิน 24 เดือน นับถัดจากเดือนที่ ทอท.มีมติอนุมัติโครงการฯ(มกราคม 2570)

5.1.4 ผู้ประกอบการฯ และสายการบินต้องชำระดอกเบี้ยของยอดเงินที่ขอเลื่อน และ/หรือแบ่งชำระทุกเดือน ตามอัตราที่ ทอท.กำหนด โดยอัตราดอกเบี้ย (ร้อยละต่อปี) คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยที่ ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate : MLR) ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบวกเพิ่มอีกร้อยละ 2ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะต้องไม่น้อยกว่าต้นทุนทางการเงิน (Weighted Average Cost of Capital : WACC) ของ ทอท. โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ย MLR และ WACC ณ วันที่ผู้ประกอบการฯ และสายการบินแต่ละราย ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ทอท.อนุมัติเป็นต้นไป โดยไม่มีผลย้อนหลัง (ผู้ประกอบการฯ และสายการบินที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องชำระดอกเบี้ยให้ ทอท. ทุกเดือน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง ซึ่งโดยปกติแล้ว ทอท.จะเรียกเก็บดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระพร้อมกับเงินต้น ในคราวเดียวกัน)

5.1.5 ในกรณีที่ผู้ประกอบการฯ และสายการบินผิดนัดชำระเงินของโครงการฯงวดใดงวดหนึ่งหรือมีหนี้สินเกิดขึ้นใหม่ ให้ถือว่าสิทธิ์ตามโครงการนี้สิ้นสุดลงทันที และ ทอท.จะดำเนินการตามเงื่อนไข สัญญาต่อไป

5.1.6 ทอท.ขอสงวนสิทธิในการพิจารณาตามความเหมาะสมและยกเลิกโครงการฯ ได้ และให้ผลการพิจารณาของ ทอท. ถือเป็นที่สุดจากการชี้แจงดังกล่าว ทอท.ขอยืนยันว่า ทอท.มิได้ทำการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่มีกับกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ จากกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด และยังคงดำเนินการตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างเคร่งครัด

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles