ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) (AOT) เปิดเผยรายงานผลประกอบการงวด 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 ระหว่างเดือนตุลาคม 2567 ถึงเดือนธันวาคม 2567 ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) AOT มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 5,344.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 781.27 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.12 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ AOT มีรายได้รวม 17,906.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.41 ซึ่งรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 1,956.27 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.45 แบ่งเป็น รายได้เกี่ยวกับกิจการการบินมีจํานวน 8,804.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,727.76 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.41 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารของ ทอท. โดยเฉพาะจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.05 และ 21.52 ตามลำดับ และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบินจํานวน 8,859.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 228.51 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.65 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 10,353.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,086.70 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.73 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
สำหรับปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT งวด 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (เดือนตุลาคม 2567 ถึงเดือนธันวาคม 2567) มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวม 33.62 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.41 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 20.85 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 12.77 ล้านคน ในขณะที่มีจำนวนเที่ยวบินรวม 204,549 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.78 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 117,333 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 87,216 เที่ยวบิน
โดยปัจจัยที่ทำให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นว่า เป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจของภาครัฐ และวันหยุดยาว (Golden Week) ของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากทั้งตลาดระยะไกล (Long Haul) และตลาดระยะใกล้ (Short Haul) อีกทั้ง AOT ยังสนับสนุนนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการส่งเสริมเส้นทางการบินใหม่โดยลดค่าธรรมเนียมสำหรับสายการบินที่เปิดเส้นทางใหม่ โครงการลดค่าเช่าสำหรับสายการบินที่ย้ายไปใช้อาคาร SAT-1 และโครงการสนับสนุนการตลาดสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่และเชียงราย โดยการให้เงินสนับสนุน 300 บาทต่อผู้โดยสารหนึ่งคนสำหรับเที่ยวบินที่เข้าเงื่อนไข เป็นต้น
AOT ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาท่าอากาศยานให้เป็นศูนย์กลางการบินระดับโลก โดยมีการยกระดับมาตรฐานการให้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ให้มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัย พร้อมสนับสนุนการท่องเที่ยวและการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 (SAT-1) ที่สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคน เป็น 65 ล้านคนต่อปี การสร้างระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติและทางวิ่งเส้นที่ 3 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ที่สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านคน เป็น 50 ล้านคนต่อปี รวมถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และท่าอากาศยานหาดใหญ่ นอกจากนี้ AOT ยังได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาให้บริการเพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางแบบใหม่และความพึงพอใจสูงสุดให้กับผู้โดยสาร เช่น การนำระบบเช็กอินอัตโนมัติ ระบบตรวจจับและรับรู้ใบหน้าบุคคล (Biometric Identification) ระบบตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (ABC) ที่รองรับ E-passport กว่า 90 ประเทศ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารและเวลาในการตรวจหนังสือเดินทาง ระบบการจัดการข้อมูลแบบ A-CDM และระบบประตูทางออกขึ้นเครื่องอัตโนมัติ (SBG) เป็นต้น
ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน AOT ได้ดำเนินงานโดยคำนึงถึง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้มาตรฐานสากล เช่น DJSI, GRI และ PDPA ทั้งยังได้รับการจัดอันดับเป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ติดต่อกัน 6 ปี และท่าอากาศยานภายใต้การดำเนินงานของ AOT ยังได้รับการรับรอง Airport Carbon Accreditation ครบทั้ง 6 แห่ง ทั้งนี้ AOT มุ่งเป้าให้ท่าอากาศยานเป็น Green Airport และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ Net Zero ภายในปี 2587 ในระดับนานาชาติ อาคาร SAT-1 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังได้รับรางวัล “ท่าอากาศยานสวยที่สุดในโลกปี 2567”จาก Prix Versailles ของ UNESCO ซึ่งเป็นการยืนยันความสำเร็จในการผสานเอกลักษณ์ไทยเข้ากับสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืน
จากความมุ่งมั่นเหล่านี้ AOT ตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาคและเชื่อมโยงการเดินทางทางอากาศแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับท่าอากาศยานของไทยให้เป็น 1 ใน 20 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี และเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดเป็น 1 ใน 10 ของโลก และสามารถแข่งขันในระดับสากลได้อย่างยั่งยืน