นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 รัฐสภาญี่ปุ่นเห็นชอบการปฏิรูป “กฎหมายพื้นฐานด้านอาหาร การเกษตร และพื้นที่ชนบท” (Basic Law on Food, Agriculture, and Rural Areas) ของญี่ปุ่น ซึ่งกฎหมายนี้มีมาตั้งแต่ปี 2542 สำหรับการปฏิรูปในครั้งนี้ เน้นประเด็นความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากสถานการณ์ด้านการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบันมีความไม่แน่นอนสูง ขาดเสถียรภาพ และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก (เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน สร้างความไม่แน่นอนและกระทบตลาดธัญพืชโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น) จึงทำให้ญี่ปุ่นต้องปฏิรูปกฎหมายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง โดยมุ่งสนับสนุนการส่งออก ลดการพึ่งพาการนำเข้า และปรับเปลี่ยนการผลิต
การปฏิรูปกฎหมายฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อความยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหารของญี่ปุ่น ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ ทั้งความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเกิดโรคระบาด ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารของโลก ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นจะนำมาใช้ครอบคลุมถึงการสร้างแรงจูงใจสำหรับการผลิตภายในประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ กระจายแหล่งซัพพลายเออร์ในการจัดหาสินค้า เพิ่มปริมาณสต็อกฉุกเฉิน และการสร้างแบรนด์แจแปน “Brand Japan” ซึ่งการสร้างแบรนด์จะเชื่อมโยงกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจภาคการเกษตร มุ่งเน้นให้ญี่ปุ่นปรับตัวให้สอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยจะเพิ่มความตระหนักรู้ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้ประกอบการไปจนถึงผู้บริโภค
จากแผนพื้นฐานด้านอาหาร การเกษตร และพื้นที่ชนบท (Basic Plan on Food, Agriculture and Rural Areas) ปี 2563 ที่ออกภายใต้กฎหมายพื้นฐานด้านอาหารฯ ญี่ปุ่นกำหนดเป้าหมายสินค้าเกษตรที่จะผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2561 – 2573 เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ถั่วเหลือง บัควีท พืชอาหารสัตว์ ผัก ผลไม้ เนื้อวัว ไก่ ไข่ และสุกร (ยกเว้น ข้าวที่จะลดการผลิตลง แต่ไม่รวมข้าวที่ใช้ทำแป้งและใช้เป็นอาหารสัตว์) ซึ่ง Basic Plan จะมีการทบทวนทุก 5 ปี ดังนั้น ในปี 2568 คาดว่าญี่ปุ่นจะมีการเผยแพร่ Basic Plan ฉบับใหม่
การที่ญี่ปุ่นมีนโยบายลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร อาจส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยลดลง ดังนั้น เกษตรกรและผู้ส่งออกไทยต้องปรับกลยุทธ์การผลิต มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับกฎระเบียบใหม่ของญี่ปุ่น โดยมีข้อเสนอสำหรับแนวทางการปรับตัว ได้แก่
– พัฒนาการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
– การเรียนรู้ พัฒนา และนำเทคโนโลยีการเกษตรยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการจัดการทรัพยากรการเกษตรในระยะยาว
– การสร้างโอกาสใหม่ ๆ ด้านการตลาดสำหรับสินค้าเฉพาะทาง โดยเฉพาะสินค้าที่ญี่ปุ่นไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ เช่น ผลไม้เมืองร้อน (เช่น ทุเรียน มะม่วง มังคุด) พืชสมุนไพร และอาหารแปรรูปเฉพาะทาง
– การพัฒนาปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ด้วยรูปแบบที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคญี่ปุ่น นอกจากฟังก์ชันที่เหมาะสมของบรรจุภัณฑ์แล้ว การใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถคงคุณภาพของสินค้า ควบคู่ไปกับการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
– การปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานการผลิตที่ตรวจสอบย้อนกลับได้
การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปญี่ปุ่นยังมีศักยภาพมาก ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีต่าง ๆ อาทิ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่เอื้อประโยชน์ต่อการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น การมีโควตาส่งออกกล้วยหอมไทยไปญี่ปุ่นกว่า 8,000 ตัน ทั้งยังมีผลไม้เมืองร้อนอื่น ๆ ที่ญี่ปุ่นไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทย เช่น มะม่วง ทุเรียน และมะพร้าว นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทยในญี่ปุ่น ได้แก่ สับปะรดห้วยมุ่น กาแฟดอยช้าง และกาแฟดอยตุง ช่วยทำให้ผู้ประกอบการไทยเจาะกลุ่มตลาดญี่ปุ่นได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2567 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นมูลค่ากว่า 52,185 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ 3 อันดับแรก คือ จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น