นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (นอมินี) ครั้งที่ 2/2567 วันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่า เป็นการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเห็นพ้องในการจัดทำแผนงานแก้ปัญหานอมินี แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว รวมเป็นเวลา 1 ปี 9 เดือน บนเป้าหมายลดผลกระทบจากนอมินีผิดกฎหมายให้รวดเร็วและหมดลง โดยแต่ละหน่วยงานจะไปทำแผนงานตามอำนาจหน้าที่ตามที่กำกับดูแลและจัดส่งให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและเป็นผู้รวบรวม ภายในวันที่ 4 ธันวาคม เพื่อรวบรวมและสรุปแผนงานเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย (ชุดใหญ่) วันที่ 9 ธันวาคม ที่มีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน
โดยข้อมูลที่จะนำเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ จะได้เห็นจำนวนนอมินีที่ผิดกฎหมายในปัจจุบัน จำนวนคดีทั้งหมด มูลค่าความเสียหาย และพื้นที่เป้าหมาย/พื้นที่ได้ดำเนินการแล้ว รวมถึงแอคชั่นแพลนระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อสู่การปฎิบัติต่อไป ทั้งนี้ เป้าหมายตรวจสอบธุรกิจเสี่ยงเป็นนอมินี มี 5 กลุ่ม คือ ท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ขนส่ง คลังสินค้า และซื้อขายที่ดินเพื่อการเกษตร โดยพื้นที่จะแตกต่างกันไปทั่วประเทศ อย่างธุรกิจท่องเที่ยวและอสังหาฯ เน้นจังหวัดท่องเที่ยว เช่น กทม. ปริมณฑล ภูเก็ต ชลบุรี สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ เป็นต้น ธุรกิจซื้อขายที่ดินเพื่อการเกษตร เน้นตรวจสอบในจังหวัดที่ผลิตผลไม้เมืองร้อน เช่น ระยอง จันทบุรี ตราด บางจังหวัดภาคใต้ เนื่องจากตรวจพบการเข้ามาเช่าที่ดินเพื่อปลูกผลไม้เมืองร้อนของต่างชาติซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้เช่าได้ไม่เกิน 30 ปี และห้ามมิให้มีการซื้อขาย ธุรกิจขนส่ง เน้นจังหวัดชายแดนทางภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ธุรกิจคลังสินค้า เน้นกทม และปริมณฑล ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากเอสเอ็มอีไทยจากมีแพลตฟอร์มต่างชาติและทุนเทาเข้ามาดำเนินการในไทย
อย่างไรก็ตาม ในเดือนธันวาคมปีนี้ต่อถึงเดือนมกราคมปีหน้า จะมีการแผนรุกตรวจสอบครั้งใหญ่ จากที่ได้รับการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสเข้ามาจำนวนมาก ในระยะ 6 เดือนจากนี้ จะเห็นความร่วมมือและเชื่อมโยงระบบการทำงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการรวดเร็วและบรรลุเป้าหมายให้นอมินีผิดกฎหมายหลดลงหรือมีน้อยที่สุด และหลายหน่วยงานกำลังแก้ไขระเบียบ เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เร่งแก้ไขกฎหมายเพื่อบรรจุมูลฐานความผิดกรณีนอมินีให้สามารถพิจารณายึดอายัดทรัพย์ผู้กระทำความผิดได้ด้วยเพื่อลดผลกระทบความเสียหายที่เกิดขึ้น สำนักงานทนายความและสำนักงานบัญชี ช่วยคัดกรองบริษัทที่มีความเสี่ยงเป็นนอมินี แผนระยะยาว เร่งรัดแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่างๆ มุ่งป้องกันและปราบปรามนอมินีใหม่ประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมองว่าธุรกิจน่าห่วงมากสุด คือ ท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และขนส่ง เพราะผลกระทบเชิงครอบงำและมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจสูง