ปตท.ทุ่มงบลงทุนปีนี้ 2.5 หมื่นล้าน ลุยธุรกิจโรงกลั่น-สำรวจปิโตรเลียม ดันธุรกิจโตแกร่ง ประกาศจ่ายเงินปันผลปี 67 ผู้ถือหุ้น 2.10 บาทต่อหุ้น

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าใน ปี 2568 ปตท.จะใช้เงินลงทุน 2.5 หมื่นล้านบาท จากงบลงทุน 5 ปี(2568-72) ที่ตั้งไว้ 5.5 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่อก๊าซ ท่าเรือ เทรดดิ้ง เป็นต้น ถือเป็นการมูลค่าเงินลงทุนสัดส่วนสูงเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับ ปตท. ในการประกอบธุรกิจ เชื่อว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ รวมถึงดูแลนักลงทุน และประชาชน ทั้งนี้ปตท.จะมุ่งกลยุทธ์การลงทุนที่คุ้มค่า ไม่ใช้เงินจำนวนมาก แต่สามารถสร้างผลกำไรได้ในระดับสูง

ปีที่ผ่านมา ปตท. ดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ใหม่ที่กลับมาเน้นธุรกิจหลัก Hydrocarbon ที่ถนัดและเชี่ยวชาญ ทบทวนกลยุทธ์ Non-Hydrocarbon เน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มี Synergy ในกลุ่ม ปตท. รวมถึงเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน บริหารต้นทุน ด้วยการทำ Operational Excellence ทั้งกลุ่ม ปตท. นำ digital มาใช้ นอกจากนี้ มุ่งดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อย ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 90,072 ล้านบาท พร้อมจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2567 ที่ 2.10 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนที่ร้อยละ 6.6 และมีส่วนช่วยภาครัฐในการบริหารจัดการต้นทุนในช่วงที่ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นจากสภาวะปกติ เพื่อลดผลกระทบให้แก่ประชาชน

ส่วนกรณี กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าจีดีพีโลกจะอยู่ที่ระดับ 3.3% และคาดการณ์เศรษฐกิจไทย 2.9% รวมถึงผลจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ปตท.จะติดตามผลกระทบทางด้านการค้า ค่าเงิน และดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการพิจารณาในการลงทุน และการบริหารงานในภาพรวม ส่วนประเด็นเรื่องของพลังงานโลกที่ทรัมป์ลดความสำคัญพลังงานสะอาด มองว่าไม่ได้รับผลกระทบ เพราะทิศทางของโลกยังมุ่งไปพลังงานสะอาด ดังนั้น ปตท. จึงยังมุ่งไปที่ธุรกิจกักเก็บคาร์บอน(CCS) และไฮโดรเจนตามแผน

สำหรับความคืบหน้าแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจนั้น ล่าสุดได้ ยุติธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) เพื่อนำเงินไปลงทุนเพิ่มศักยภาพธุรกิจที่มีความชำนาญ หรือเชี่ยวชาญ รวมถึงเพิ่มพันธมิตรในธุรกิจโรงกลั่น และสำรวจปิโตรเลียม ซึ่งปัจจุบันอยู่ขั้นตอนของการเจรจา เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปในอีกไม่ช้า

กรณีกระแสข่าวการควบรวมบริษัทลูก ประกอบด้วย บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคัล หรือ GC บริษัท ไทยออยล์ จำกัด และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด คาดว่าจะเป็นความคาดเคลื่อนในการสื่อสาร

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles