Jul 3, 2025 แชมป์ 2 สมัย! Forbes จัดอันดับทำเนียบ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 68 “เฉลิม อยู่วิทยา” และครอบครัว ครองแชมป์เศรษฐีอันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 รวม 50 มหาเศรษฐีไทยเพิ่มขึ้น 11% เป็นเงิน 170,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
เศรษฐกิจของไทยเติบโตช้ากว่าที่คาดไว้ ท่ามกลางความตึงเครียดด้านการค้าและความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจะช่วยชดเชยการร่วงลง 14% ของดัชนีตลาดหุ้นไทยเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่การเพิ่มขึ้นอย่างมากของความมั่งคั่งของสามอันดับแรก ช่วยผลักดันให้มูลค่าทรัพย์สินรวมของ 50 มหาเศรษฐีไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 11% เป็น 170,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยรวมแล้ว มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ที่อยู่ในลิสต์เพิ่มขึ้น โดยผู้ที่มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากที่สุดในแง่ตัวเงินคือครอบครัว Red Bull ที่นำโดย เฉลิม อยู่วิทยา ซึ่งครองอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่สอง ทรัพย์สินของพวกเขาพุ่งขึ้นแตะสถิติใหม่ที่ 4.45 หมื่นล้านเหรียญ เนื่องจากรายได้ประจำปีของยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มชูกำลังเพิ่มขึ้นเป็น 1.12 หมื่นล้านยูโร (1.29 หมื่นล้านเหรียญ) ในปี 2024 จากยอดขายเกือบ 1.3 หมื่นล้านกระป๋องทั่วโลก
พี่น้องเจียรวนนท์ แห่งกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังคงรักษาอันดับเศรษฐีอันดับสองของประเทศไว้ได้ โดยมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 23% เป็น 3.57 หมื่นล้านเหรียญ กลุ่มนี้เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลต่อเนื่อง ล่าสุดจับมือกับ BlackRock ลงทุน 1 พันล้านเหรียญ เพื่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ และบริษัทย่อยด้านฟินเทค Ascend Money ก็เพิ่งได้รับอนุมัติให้จัดตั้ง Virtual Bank
สารัชถ์ รัตนาวะดี มหาเศรษฐีด้านพลังงานและโทรคมนาคม ขยับขึ้นสองอันดับ มาครองอันดับสามเป็นครั้งแรกด้วยทรัพย์สิน 1.2 หมื่นล้านเหรียญ หลังจากควบรวมกิจการระหว่าง Gulf Energy Development กับ Intouch Holdings และนำบริษัทที่ควบรวมแล้วเข้าจดทะเบียนในชื่อ Gulf Development เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ด้าน เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อน้ำเมา มูลค่าทรัพย์สินแทบไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 1.05 หมื่นล้านเหรียญ ส่งผลให้ตกมาอยู่อันดับ 4 โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เขาได้โอนหุ้นบางส่วนให้ลูกทั้ง 5 คน แต่ในฐานะผู้ก่อตั้งกลุ่ม ทรัพย์สินยังคงถูกนับรวมในชื่อของเขา
สำหรับตระกูล จิราธิวัฒน์ ซึ่งอยู่ในธุรกิจค้าปลีก มูลค่าทรัพย์สินลดลง 13% เหลือ 8.6 พันล้านเหรียญ ท่ามกลางบรรยากาศการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ซบเซา โดยเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว กลุ่มได้พันธมิตรใหม่ คือ กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะของซาอุดีอาระเบีย (PIF) ที่เข้าซื้อหุ้น 40% ในร้านค้าปลีกหรู Selfridges จาก Signa Holdings ของออสเตรีย (ซึ่งกลุ่ม Central ยังคงถือหุ้น 60%)
ในปีนี้มีมหาเศรษฐีทั้งหมด 19 ราย ที่มูลค่าทรัพย์สินลดลง โดย ประยุทธ มหากิจศิริ เจ้าพ่อกาแฟ มูลค่าทรัพย์สินลดลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากบริษัทร่วมทุนระหว่าง PM Group กับเนสท์เล่ สิ้นสุดลง
นอกจากนี้ยังมีเจ้าสัวใหญ่ 2 ท่านที่เสียชีวิตหลังการจัดอันดับครั้งก่อน ได้แก่ วานิช ไชยวรรณ ประธานกิตติมศักดิ์ของไทยประกันชีวิต และ พงษ์ศักดิ์ วิทยากร ผู้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาล Bangkok Dusit Medical Services ซึ่งต่อมาได้ขยายธุรกิจดูแลสุขภาพภายใต้ Principal Capital โดยทรัพย์สินของทั้งสองตระกูลถูกจัดอันดับภายใต้ชื่อครอบครัว ไชยวรรณ และ วิทยากร
แม้เกณฑ์มูลค่าทรัพย์สินขั้นต่ำเพื่อเข้าลิสต์จะลดลงเหลือ 420 ล้านเหรียญ จาก 550 ล้านเหรียญในปีที่แล้ว แต่ก็มีเศรษฐี 4 ราย ที่หลุดจากการจัดอันดับ โดยผู้ที่หายไปอย่างน่าจับตาคือ สมโภชน์ อาหุนัย เจ้าพลังงานหมุนเวียน หลังจากบริษัท Energy Absolute เผชิญปัญหาทางการเงิน
สำหรับ 10 อันดับแรก มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2568 มีดังต่อไปนี้
1.เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว ทรัพย์สิน 4.45 หมื่นล้านเหรียญ หรือ 1.44 ล้านล้านบาท
2.พี่น้องเจียรวนนท์ ทรัพย์สิน 3.57 หมื่นล้านเหรียญ หรือ 1.16 ล้านล้านบาท
3.สารัชถ์ รัตนาวะดี ทรัพย์สิน 1.2 หมื่นล้านเหรียญ หรือ 3.90 แสนล้านบาท
4.เจริญ สิริวัฒนภักดี และครอบครัว ทรัพย์สิน 1.05 หมื่นล้านเหรียญ หรือ 3.41 แสนล้านบาท
5.ครอบครัวจิราธิวัฒน์ ทรัพย์สิน 8.6 พันล้านเหรียญ หรือ 2.79 แสนล้านบาท
6.ครอบครัวไชยวรรณ ทรัพย์สิน 4.2 พันล้านเหรียญ หรือ 1.36 แสนล้านบาท
7.อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา และครอบครัว ทรัพย์สิน 3.5 พันล้านเหรียญ หรือ 1.14 แสนล้านบาท
8.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ทรัพย์สิน 3.4 พันล้านเหรียญ หรือ 1.10 แสนล้านบาท
9.เสถียร เสถียรธรรมะ ทรัพย์สิน 2.6 พันล้านเหรียญ หรือ 8.44 หมื่นล้านบาท
10.พรเทพ พรประภา และครอบครัว ทรัพย์สิน 2.2 พันล้านเหรียญ หรือ 7.14 หมื่นล้านบาท