GIT เผยยอดส่งออกอัญมณี-เครื่องประดับเดือน พ.ค. ยังสดใส โตเพิ่ม 4.02% ฟื้นตัวเป็นเดือนที่ 9

GIT เผยยอด ส่งออกอัญมณี -เครื่องประดับเดือน พ.ค. ยังสดใส โตเพิ่ม 4.02% ฟื้นตัวเป็นเดือนที่ 9 เดือนติดต่อกัน

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนพฤษภาคม 2567 มีมูลค่า 826.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.02% ฟื้นตัวต่อเนื่อง 9 เดือนติดต่อกัน และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,408.42 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 35.22% ส่งผลให้ยอดรวม 5 เดือนแรกปี 2567 การส่งออกไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 3,851.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 11.24% หากรวมทองคำ มูลค่า 6,324.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.70%

“การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำฟื้นตัวต่อเนื่อง 9 เดือนติดต่อกัน โดยได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว จากภาวะเงินเฟ้อชะลอตัว ธนาคารกลางหลายประเทศมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา ทำให้ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน และการผลิตโลกให้ฟื้นตัว และได้รับผลดีจากการกระตุ้นการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ที่ทำอย่างต่อเนื่อง และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว มีการเดินทางท่องเที่ยว ส่งผลให้การซื้ออัญมณีและเครื่องประดับดีขึ้นตามไปด้วย” นายสุเมธกล่าว

สำหรับการส่งออกทองคำเดือนพฤษภาคม 2567 มีมูลค่า 582.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 135.39% เนื่องจากราคาทองคำเริ่มนิ่งและผันผวนลดลง ทำให้มีการส่งออกไปเก็งกำไรเพิ่มขึ้น จากที่ช่วง 2 เดือนก่อนหน้านี้ คือมีนาคมและเมษายน การส่งออกทองคำลดลงต่อเนื่อง เพราะผู้ส่งออกกลัวความเสี่ยงจากการผันผวนของราคา ส่วนยอดรวม 5 เดือนแรกปี 2567 ส่งออกทองคำมีมูลค่า 2,472.37 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 16.79% และหากแยกการส่งออกทองคำเป็นรายเดือนมกราคม มูลค่า 469.12 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 194.17% กุมภาพันธ์ มูลค่า 740.46 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 309.51% มีนาคมมูลค่า 391.82 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 75.02% และเมษายน มูลค่า 288.64 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 64.57%

ส่วนตลาดส่งออกสำคัญเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยฮ่องกง เพิ่ม 25.84% สหรัฐ เพิ่ม 8.41% อินเดีย เพิ่ม 80.64% เยอรมนี เพิ่ม 14.93% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 15.26% เบลเยียม เพิ่ม 57.68% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 2.36% อิตาลี เพิ่ม 0.10% ญี่ปุ่น เพิ่ม 5.31% แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 16.74% ทางด้านการส่งออกสินค้า ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 10.48% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 24.51% พลอยก้อน เพิ่ม 90.73% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 9.47% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 5.91% เพชรก้อน เพิ่ม 0.29% เพชรเจียระไน เพิ่ม 11.72% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 11.93% ของทำด้วยไข่มุกและรัตนชาติ เพิ่ม 33.22% ส่วนเครื่องประดับแพลทินัม ลด 40.46%

ทั้งนี้ ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้พัฒนามาสู่ยุคของ Gen AI ที่เพิ่มความสามารถจากเอไอแบบเดิม ทำให้มีหลายบริษัทนำมาใช้ในหลายรูปแบบ ที่ไม่เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ยังช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น ทั้งการสร้างเนื้อหา วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ทำนายแนวโน้มตลาด ตอบคำถามลูกค้าอัตโนมัติแล้ว ภาคธุรกิจยังมีการนำมาใช้ทำ Content Marketing ตั้งแต่การวางแผน การคิดคอนเทนต์ ไปจนถึงการช่วยผลิตคอนเทนต์ ทั้งในรูปแบบข้อความ รูปภาพ คลิปวิดีโอที่รวดเร็วมากขึ้น เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น การนำเอไอมาใช้ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การใช้อย่างเข้าใจและต่อยอดได้ตรงจุด จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เพิ่มโอกาสในการขายสินค้า ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก และเพิ่มโอกาสในการส่งออกได้เพิ่มขึ้น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles