KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญความท้าทายในหลายมิติ ทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักรระยะสั้น ทั้งการชะลอตัวของสินเชื่อ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ภาวะการเงินที่ตึงตัว และปัจจัยเชิงโครงสร้างทั้งปัญหาโครงสร้างประชากร ความสามารถในการแข่งขัน และความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทั้งนโยบายการค้าโลกและการเมืองในประเทศจะเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในปีหน้าและปีต่อ ๆ ไป สถานการณ์ในปัจจุบันค่อนข้างชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยจะกำลังชะลอตัวลงต่อเนื่อง ดังนั้นมีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องมีการประสานนโยบาย ทั้งนโยบายการคลัง นโยบายการเงิน และนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างยั่งยืน
โดยเศรษฐกิจไทยกำลังเจอปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายในและภายนอก หากไม่ปรับตัวมีความเสี่ยงเข้าสู่แนวโน้มขาลง โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทย ในปี 2568 จะโตเพียง 2.6% จากเดิมคาด 3.0% โดยเติบโตช้าลงจากปี 2567 และมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องเหลือ 2.4% ในปี 2569 สะท้อนแรงกดดันจากทั้งจากความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยที่เผชิญปัญหาความสามารถในการแข่งขัน หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการชะลอตัวของสินเชื่อในภาคธนาคารในขณะที่หนี้เสียเร่งตัวขึ้น กำลังส่งผลให้การบริโภคชะลอตัวลง ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่เป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวได้ช้าลงจากฐานที่สูงขึ้น นอกจากนี้ความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศยังเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทย
KKP Research ประเมินว่า แม้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4/67 จะยังมีการเติบโตของ GDP อยู่ในระดับประมาณ 4% จากฐานการใช้จ่ายภาครัฐที่อยู่ในระดับต่ำและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจปี 2567 ทั้งปียังเติบโตได้ประมาณ 2.7% แต่แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงเรื่อย ๆ ทั้งแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หมดไปและอาจมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากนโยบายการค้าของสหรัฐ
เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ยังมีความเสี่ยงโตต่ำกว่าที่ประเมินว่าจากความเสี่ยงของนโยบายภาษีของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ และเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ฯ มากเป็นลำดับต้น ๆ ของเอเชีย โดยมีการส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ คิดเป็นประมาณ 9% ของ GDP และเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ฯ อเมริกามูลค่ากว่าสี่หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นลำดับที่ 12 ของโลก และการเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่อาจเป็นผลมาจากสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งอาจทำให้ไทยมีความเสี่ยงถูกมาตรการการค้าเพิ่มเติมได้
อย่างไรก็ดี นโยบายการค้าของสหรัฐยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก KKP ประเมินว่าการขึ้นภาษีนำเข้าขนาดใหญ่มีแนวโน้มใช้เพื่อเป็นเครื่องมือเจรจาต่อรองด้านการค้าระหว่างประเทศโดยสินค้าในกลุม Rerouting ที่นำเข้าจากจีนเพื่อส่งออกไป US มีแนวโน้มได้รับผลกระทบก่อน เช่น Solar Panel, Wifi Router ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากเพราะมูลค่าเพิ่มที่ถูกสร้างในประเทศอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจกระทบกับสินค้ากลุ่มอื่น ๆ เพิ่มเติม คือ 1) กลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ หากมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้า 10% กับทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งจะกระทบสินค้าในกลุ่มเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ 2) กลุ่มสินค้าที่ไทยมีการคิดภาษีกับสหรัฐ ฯ สูงกว่าสหรัฐ ฯ คิดกับไทย โดยสหรัฐ ฯ มีแนวโน้มต่อรองให้ไทยลดภาษีนำเข้าสินค้าบางกลุ่มกับสหรัฐ ฯ ลงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม กระทบสินค้าในกลุ่มอาหารและภาคเกษตร ฯ 3) กลุ่มสินค้านำเข้าจากประเทศจีน ในสถานการณ์ที่สหรัฐ ฯ ขึ้นภาษีกับประเทศจีนที่ 60% มากกว่าประเทศอื่น ๆ จะเป็นความเสี่ยงที่อาจเห็นสินค้าจีนทะลักเข้าสู่ตลาด ASEAN และไทยเพิ่มเติม สินค้าที่มีการขาดดุลเยอะในช่วงที่ผ่านมา คือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์และชิ้นส่วน
KKP Research ระบุว่า การเติบโตที่ช้าลงอย่างมีนัยยะสำคัญของเศรษฐกิจไทยไม่ได้เกิดจากเฉพาะปัจจัยชั่วคราว แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบจากทั้งการแข่งขันที่มากขึ้นจากประเทศจีนและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เมื่อพิจารณาการเติบโตราย sector จะพบว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีความแตกต่างกันมากในแต่ละภาค โดยภาคอุตสาหกรรมไทยหดตัวลงโดยเฉลี่ยในช่วงหลังโควิด-19 เป็นต้นมาซึ่งเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยที่ใหญ่สุดในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มสินค้าที่หดตัวลงมากที่สุดในสาขาการผลิต คือ Hard Disk Drive, Furniture, Automobile หรือกล่าวได้ว่าภาคการผลิตไทยอยู่ในถดถอยแล้วในปัจจุบัน หลังจากหดตัวต่อเนื่องมามากว่า 1 ปี และยังไม่มีอุตสาหกรรมใหม่เข้ามาทดแทน
นอกจากปัจจัยเชิงโครงสร้างระยะยาว หลายประเด็นยังคงกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะจากจำนวนแรงงานในประเทศที่หดตัวลงส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ปัญหาการส่งออกในหลายกลุ่มสินค้าที่เป็นสินค้าเก่าและขาดการต่อยอดสู่เทคโนโลยีใหม่ การลงทุนในประเทศและการลงทุนทางตรงจากต่างชาติที่ชะลอตัวลง ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ปรับตัวแย่ลง และปัญหาการเมืองและสถาบันเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม เช่น การคอร์รัปชัน จะยังคงเป็นปัจจัยลบกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
ปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐ หลังอุปสงค์ในประเทศซบเซาและปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินสดขนาดใหญ่ในปี 2567 และ 2568 ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญที่ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยพอขยายตัวต่อได้ โดยนโยบายดังกล่าวเป็นเหมือนการโยกหนี้จากภาคครัวเรือนมาสู่ภาครัฐ คือ รัฐเป็นผู้กู้เงินมาแจกประชาชนแทน แต่มาตรการนี้จะส่งผลค่อนข้างจำกัดต่อเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากปัจจัยสำคัญอื่น ๆ เช่น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ ภาวะสินเชื่อที่เข้มงวดจากธนาคาร และการฟื้นตัวของรายได้ที่ยังล่าช้า มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและผลกระทบต่อการบริโภคมากกว่าการแจกเงินสดเพียงครั้งเดียว ในระยะถัดไปภาครัฐมีความจำเป็นต้องปฏิรูประบบการคลังเนื่องจากรายได้ของภาครัฐมีแนวโน้มชะลอตัวลงมาโดยตลอดและระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP จะค่อย ๆ สูงขึ้นจนแตะขอบบนที่ 70% ของ GDP
ขณะที่เงินบาทมีความผันผวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยประเมินแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะปานกลางยังคงเป็นทิศทางอ่อนค่าลงตามปัจจัยพื้นฐานที่ 34-38 บาท/ดอลลาร์ และคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม 3 ครั้งในปีหน้ามาที่ระดับ 1.5% จากระดับปัจจุบันที่ 2.25% จากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ และสภาวะด้านการเงินที่ตึงตัวขึ้นจากสินเชื่อภาคธนาคารที่หดตัวจนส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุน