KKP Research มองเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ คาดจีดีพีปีนี้ไปถึงแค่ 2% แม้มีแรงส่งแจกเงินหมื่น ส่งออก ท่องเที่ยวโต

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เผยตั้งแต่หลังวิกฤติการระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจไทย ยังคงเติบโตได้ช้าและต่ำกว่าระดับศักยภาพ การเติบโตที่แตกต่างกันมากในแต่ละภาคส่วนของเศรษฐกิจ เป็นเหตุผลที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจำกัดอยู่เพียงกลุ่ม ในขณะที่หลายกลุ่มโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมอาจเรียกว่าอยู่ในภาวะถดถอย ในช่วงปี 67 ที่ผ่านมา หลายฝ่ายหวังว่าแรงส่งทางบวกจะเอาชนะผลด้านลบโดย 3 ปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ (1) การแจกเงินจากภาครัฐ (2) การส่งออกที่เติบโตได้ดี (3) จำนวนนักท่องเที่ยวที่เติบโตได้ตามที่ประเมินไว้

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมากลับยังคงเติบโตได้ไม่ดีนักและโตต่ำกว่าศักยภาพเดิมที่ 3% KKP Research ตั้งข้อสังเกตว่าการเติบโตที่ต่ำของปี 2024 นี้ ไม่เพียงเกิดจากปัจจัยลบที่มากดดัน แต่เกิดจากปัจจัยบวกไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจมากเท่ากับที่คาดหวัง 3 ปัจจัยบวก แรงส่งน้อยกว่าคาด แจกเงินแต่เศรษฐกิจไม่ฟื้น

ช่วงปลายเดือนก.ย. 67 รัฐบาลมีการดำเนินมาตรการ Digital Wallet โดยแจกเงินจำนวน 1 หมื่นบาท ให้กับกลุ่มปราะบาง คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท หรือประมาณ 0.7% ของ GDP แต่พบว่าการเพิ่มขึ้นของการบริโภคในไตรมาส 4/67 ภาพรวมมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับการบริโภคในช่วงสามไตรมาสแรก ซึ่งหมายถึงการแจกเงินแทบไม่มีผลต่อการบริโภคภาคเอกชนไทยเลย ผลทางเศรษฐกิจของมาตรการสอดคล้องกับที่ KKP Research เคยประเมินไว้ว่าตัวคูณทางเศรษฐกิจจากการแจกเงินในภาวะเศรษฐกิจปกติจะอยู่ในระดับต่ำ

โดยประเมินว่าจำนวนเงินที่ถูกนำมาใช้เพื่อการบริโภคใหม่คิดเป็นไม่ถึง 10% ของเงินที่แจกไป โดยมี 3 สาเหตุสำคัญได้แก่ 1. เงินที่ได้รับไปไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายใหม่ในระบบเศรษฐกิจ ผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างของสำนักงานสถิติพบว่าคนสัดส่วนประมาณ 12.8% นำเงินที่ได้รับไปใช้เพื่อชำระหนี้ นอกจากนี้การใช้จ่ายในสินค้าส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายไปกับสินค้าจำเป็นที่มีการใช้จ่ายเดิมอยู่แล้ว จากผลสำรวจพบว่าการใช้จ่ายในการแจกเงินกระจุกตัวอยู่ใน อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ในครัวเรือน และการชำระค่าสาธารณูปโภค นอกจากนี้บางส่วนอาจเก็บเงินที่ได้รับเป็นเงินออม

2. การใช้จ่ายส่วนหนึ่งอาจเป็นการใช้จ่ายในเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Sectors) ช่องทางที่มีการนำไปใช้จ่ายมากที่สุด คือ ร้านค้าในชุมชน และหาบเร่แผงลอยเป็นหลัก ทำให้การวัดผลของนโยบายต่อเศรษฐกิจทำได้ยากข้อมูลจาก World Bank ชี้ไทยมีขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบใหญ่ถึงประมาณ 45% ของ GDP เป็นลำดับที่ 8 ของโลก

3. ปัจจัยเศรษฐกิจอื่นๆยังอยู่ในทิศทางขาลงไม่สนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคโดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน KKP Research ประเมินว่าทิศทางการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมยังอยู่ในภาวะชะลอตัวจาก 1) สินเชื่อภาคธนาคารหดตัว 2) รายได้ของครัวเรือนยังคงอ่อนแอ และ 3) หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยัง

ทังนี้ ประเด็นที่กล่าวมาอาจอธิบายว่าเหตุใดการฟื้นตัวของการบริโภคยังคงอ่อนแอแม้ว่าจะมีมาตรการแจกเงินเพิ่มเติม ผลลัพธ์จากมาตรการแจกเงินในช่วงปลายปีแสดงให้เห็นว่าการใช้มาตรการนี้อาจเป็นทางเลือกนโยบายที่ได้ผลทางเศรษฐกิจไม่คุ้มกับต้นทุนทางการคลังที่เกิดขึ้น และเกิดคำถามว่างบประมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 68 ควรปรับรูปแบบให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจได้หรือไม่

KKP คาดการณ์ว่าการบริโภคภาคเอกชนของไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 68 โดยจะขยายตัวได้ที่ 2.3% ชะลอลงจาก 4.2% ในปี 68 โดยเฉพาะกลุ่มการบริโภคสินค้าคงทนที่จะยังหดตัวลงต่อไป

KKP Research ประเมินไว้ว่าการส่งออกไทยอยู่ในช่วงขาลงจากปัญหาความสามารถในการแข่งขันที่แย่ลงเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามในปี 67 การส่งออกสินค้าของไทยจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์กลับเติบโตได้มากถึง 5.4% สูงกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ในช่วงต้นปีที่ประมาณ 2% – 3% ในอีกทางหนึ่งเมื่อพิจารณาดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยกลับพบว่าที่ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในทิศทางหดตัวต่อเนื่อง คำถามคือเหตุใดการส่งออกไทยจึงโตได้ดีมากในขณะที่ผลต่อเศรษฐกิจกลับดูลดลงอย่างชัดเจน

การส่งออกของไทยบางส่วนเกิดจากการนำเข้าจากจีนเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ (Rerouting) ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนทำให้จีนจำเป็นต้องส่งสินค้าผ่านประเทศอื่นเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ ทำให้ไม่มีกิจกรรมการผลิตเกิดขึ้นในไทย รวมทั้งสินค้าส่งออกไทยบางกลุ่มมีแนวโน้มสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศลดลง เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมีมูลค่าเพิ่มในประเทศน้อยกว่าการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน

KKP Research ประเมินเบื้องต้นว่าการส่งออกที่มีโอกาสเกี่ยวข้องกับการ Rerouting มีผลต่อการเติบโตของการส่งออกไทยประมาณ 22% ในปี 67 จากระดับการเติบโตทั้งหมด โดยการเติบโตของการส่งออกที่มากขึ้น 1% จะส่งผลต่อเศรษฐกิจได้ลดลงจากระดับ 0.3ppt เหลือประมาณ 0.1ppt – 0.2ppt เท่านั้น ในระยะถัดไปการส่งออกของไทยจะเผชิญความท้าทายมากขึ้นจากทิศทางนโยบายการค้าของสหรัฐ

ขณะที่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังไทยในปี 67 มีจำนวน 35.5 ล้านคน โดยเติบโตขึ้นประมาณ 26.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน สอดคล้องกับที่หลายฝ่ายประเมินไว้ อย่างไรก็ตามผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมกลับยังมีค่อนข้างจำกัดโดยประเมินว่า รายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมาก แม้จำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาตามคาดแต่เมื่อพิจารณารายได้จากการท่องเที่ยวต่อหัวจะพบว่ารายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวมีการปรับตัวลดลงและต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดมาก และรายได้ที่ค่อนข้างกระจุกตัวในหลายมิติ ทำให้ผลต่อเศรษฐกิจเกิดขึ้นไม่ทั่วถึง

ประเด็นสำคัญคือ ในสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบันการประเมินภาพเศรษฐกิจโดยยึดการวัดความสำเร็จผ่านข้อมูลเศรษฐกิจแบบเดิมอาจทำให้การประเมินภาพเศรษฐกิจคลาดเคลื่อนและทำให้มองข้ามปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข นำไปสู่การออกแบบนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง KKP Research ยังคงประเมินว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการรัฐจากทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวระยะสั้น และรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าในระยะยาว

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles