KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2568 เหลือ 1.7% ลดลงจากประมาณการก่อนหน้าที่ 2.3% ส่วนหนึ่งสะท้อนผลจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ ต่อการส่งออก การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจบริโภค และลงทุน
อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนภาพกลับไปไกลกว่านั้น นักวิเคราะห์คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยสูงเกินไปมาตลอด ซึ่งสะท้อน 2 เรื่องสำคัญ คือ เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงไม่ได้เกิดจากปัจจัยชั่วคราว แต่เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ไม่ฟื้นขึ้นมาเองเมื่อเวลาผ่านไป และ ความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกระทบเศรษฐกิจระหว่างปี และเศรษฐกิจโตได้ต่ำกว่าที่คาด โดย KKP ต้องการชี้ให้เห็นว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในความจริงแล้ว สาเหตุหลักไม่ได้เกิดจากนโยบายภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง
เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ได้รับแรงส่งหลักจากภาคการท่องเที่ยวมาโดยตลอด ตามฐานการท่องเที่ยวที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงการระบาดของโควิด แต่หากไม่นับรวมการท่องเที่ยว จะพบว่าเศรษฐกิจไทยในส่วนที่เหลือ หดตัวมาตั้งแต่ไตรมาส 4/65 และกลับมาโตเป็นบวกเล็กน้อยแตะระดับ 0% ในช่วง 2 ไตรมาสล่าสุด การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ติดลบต่อเนื่อง สะท้อนว่าภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ของไทยที่ไม่รวมการท่องเที่ยว เช่น ภาคอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจในประเทศ อาจเรียกว่าอยู่ในภาวะถดถอยไปแล้ว ซึ่งสะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว
ในปี 68 นี้ 3 เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย ทั้งภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร กำลังมีแนวโน้มชะลอตัวลงพร้อม ๆ กัน คือ
1. แรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวกำลังจะหายไปในปีนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมา ข้อมูลสะท้อนว่าแนวโน้มการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวกำลังชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่กลับมา และนิยมไปเที่ยวประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น แทนการมาท่องเที่ยวไทย ส่งผลให้การท่องเที่ยวที่เคยเป็นแรงส่งหลักทั้งหมดของเศรษฐกิจ (ประมาน 2-3 ppt) ในช่วงปี 65-67 จะเริ่มไม่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยมากนักในปีนี้ โดย KKP ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 36.2 ล้านคน เทียบกับปีก่อนที่ 35.6 ล้านคน หรือโตขึ้นเพียง 6 แสนคนเท่านั้น และมีความเสี่ยงจะลดลงได้
2. ภาคอุตสาหกรรมเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่อยู่ในทิศทางติดลบมาโดยตลอดอยู่แล้ว โดยหดตัวมาตั้งแต่ปลายปี 65 โดยนักวิเคราะห์หวังว่าจะฟื้นตัวขึ้นได้บ้างในปีนี้ แต่การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ ฯ จะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมที่ทำให้เห็นการฟื้นตัวได้ยาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นหลัก
3. ภาคเกษตรมีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนจากข้อมูลการส่งออกภาคเกษตรที่หดตัวลงแรง โดยเฉพาะข้าวหลังอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวได้ในปีนี้ โดยการส่งออกข้าวขาวติดลบเกือบ 30% ในช่วงไตรมาสแรก รายได้ที่ชะลอตัวลงในภาคเกษตร จะส่งผลต่อเนื่องให้การบริโภคในประเทศชะลอลง
โดย KKP ประเมินว่า ในที่สุดระดับภาษีที่สหรัฐฯ คิดกับไทยและประเทศอื่น ๆ ในโลกจะค้างอยู่ที่ระดับ 10% ภายใต้ข้อสมมติว่า เราเจรจากับสหรัฐฯ ให้ลดอัตราภาษีนำเข้าลงมาได้ ในขณะที่อัตราภาษีนำเข้ากับจีน ที่เริ่มมีการตกลงเบื้องต้นเพื่อลดภาษีนำเข้าลงมาได้แล้ว และน่าจะอยู่ในระดับที่สูงว่าประเทศอื่น
อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์นี้ ผลกระทบจากภาษีต่อไทยจะเกิดขึ้นผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ ผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไปยังสหรัฐฯ การให้ข้อแลกเปลี่ยนทางการค้า โดยเปิดตลาดของสินค้าบางกลุ่มให้กับสหรัฐ ฯ และผลกระทบทางอ้อมจากภาวะการค้าโลก และการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงต่อการส่งออกไทย
โดยผลกระทบทางตรงต่อการส่งออกไปสหรัฐฯ ในกรณีที่มีการขึ้นภาษี 10% ต่อสินค้าส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐฯ KKP ประเมินว่า GDP ไทยอาจได้รับผลกระทบติดลบประมาณ 0.15% โดยการให้ข้อแลกเปลี่ยนในระหว่างการเจรจา อาจกระทบเศรษฐกิจบางภาคส่วน หากสหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยเปิดตลาดในภาคเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะหมู เนื้อวัว และนม จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดย GDP ภาคเกษตรมีสัดส่วน 8-9% และหมู-ไก่ 1.3% แต่ภาคเกษตรยังคงมีบทบาทในการจ้างงานในชนบทอย่างกว้างขวาง โดยคิดเป็นกว่า 31% ของการจ้างงานทั้งหมด
ในส่วนของผลกระทบทางอ้อมจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว KKP ประเมินว่าในอดีตทุก ๆ การลดลงของ GDP โลก 1% จะส่งผลให้ GDP ไทยลดลงประมาณ 0.6%
ดังนั้น ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยจากประเด็นสงครามการค้าในปี 68 ยังคงเอียงไปทางด้านลบ หากการเจรจาล้มเหลว และสหรัฐฯ กลับมาเรียกเก็บภาษีที่อัตรา 36% หลังครบกำหนดผ่อนผัน 90 วัน ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่อง KKP ประเมินว่า GDP ไทยในปี 68 อาจลดลงต่ำสุดเหลือเพียง 0.9%
KKP ประเมินภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต จากข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งอุปทานว่า ค่อนข้างยากที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับไปเติบโตที่ 3% แม้จะไม่มีมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐ ฯ ก็ตาม เพื่อที่จะรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจให้ใกล้เคียง 3% สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น คือภาคการท่องเที่ยวจะต้องขยายตัวมากถึงปีละประมาน 7-10 ล้านคน เหมือนช่วงที่จีนเข้ามาท่องเที่ยวไทยใหม่ ๆ หรือจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังไทย ต้องขยายตัวไปถึงประมาน 70 ล้านคน ในปี 73 เพื่อชดเชยกับภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลง ภาคการผลิตไทยต้องกลับไปเติบโตเฉลี่ยปีละประมาน 5% เหมือนในช่วงปี 43 และการใช้ภาคเกษตรเป็นตัวนำทางเศรษฐกิจ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะมีขนาดที่เล็กเกินไปเพียงประมาณ 8% ของ GDP นอกจากนี้ ในปัจจุบันการส่งออกในภาคเกษตรที่เติบโตติดลบในปี 68 เนื่องจากข้าวไทย ไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับข้าวอินเดียได้
อย่างไรก็ตาม ภาคต่างประเทศที่อ่อนแอลง กลับมาเป็นคำถามว่า “ไทยพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศแทนได้หรือไม่” โดยช่วงที่ผ่านมา สินเชื่อภาคธนาคารปรับตัวแย่ลงมาอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่ม ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ 1. หนี้เสียในภาคธนาคารปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อรายย่อยและ SME ซึ่งสะท้อนความเปราะบางของเศรษฐกิจ 2. หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ Balance sheet ของภาคครัวเรือนในปัจจุบันอยู่ในสถาะอ่อนแอ และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และ 3. อัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันไม่เป็นระดับที่ผ่อนคลาย และสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อ
KKP ประเมินว่า ภาครัฐต้องไม่ยึดติดกับการทำนโยบายแบบเดิม และควรต้องมีการประสานด้านนโยบาย ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ บทเรียนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ภายใต้แนวคิด Abenomics เพื่อตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างยืดเยื้อ ถูกจัดวางภายใต้กรอบ “ลูกศรสามดอก” ประกอบด้วย นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายที่เน้นเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ นโยบายการคลังแบบขยายตัว และการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ บทเรียนของญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีความครบถ้วนทั้งในมิติของระยะสั้น และระยะยาว และต้องมีทั้งนโยบายด้านอุปสงค์ และนโยบายด้านโครงสร้าง ซึ่งการใช้นโยบายการเงินหรือการคลังเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางของเศรษฐกิจได้ หากขาดการปฏิรูปเชิงโครงสร้างควบคู่กันไป