ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตามจังหวะย่อตัวลงของทั้งดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี เก็งกำไรทอง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดที่ระดับ 33.90 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.96 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.80-34.00 บาทต่อดอลลาร์  ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในกรอบ 33.83-33.98 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถทยอยรีบาวด์ขึ้นเกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และทรงตัวเหนือระดับ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ อีกทั้งเงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน หลังเงินบาทได้อ่อนค่าเข้าใกล้โซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์   

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท ยังมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้ ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และเราจะมั่นใจได้มากขึ้นว่า เงินบาทจะกลับไปอ่อนค่าได้ต่อเนื่อง หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน (ซึ่งจะเป็นการยืนยันสัญญาณเชิงเทคนิคัลของการกลับตัวอ่อนค่าลง หากประเมินจากกราฟรายวันของ USDTHB) 

ทั้งนี้คาดว่าเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways แถวระดับ 33.90 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีโซนแนวต้านแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไปจะอยู่ในช่วง 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์) ขณะที่โซนแนวรับจะอยู่แถว 33.80 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 33.50 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดก็ต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และการโต้วาทีระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงวันพุธนี้ ทั้งนี้ เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้น 

อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนและอังกฤษ โดยเฉพาะในช่วงบ่าย ราว 13.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ที่ตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ เนื่องจากปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOE อาจไม่รีบลดดอกเบี้ย เท่ากับบรรดาธนาคารกลางหลักอื่นๆ โดยเฉพาะเฟด (The Most Hawkish Major Central Banks) ซึ่งมุมมองดังกล่าว ได้ช่วยหนุนให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ทยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น หากข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ ออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนภาพการชะลอตัวของตลาดแรงงานที่ชัดเจนมากขึ้น ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยของ BOE ซึ่งอาจกดดันเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ได้บ้าง 

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles