ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอาหารทะเลในปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปีนี้ สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยังต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางและอาจเติบโตต่ำกว่าคาด รวมถึงผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มลุกลามและขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงด้านลบ (Downside risks) เหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความต้องการบริโภคอาหารทะเลของผู้บริโภคในระยะต่อไปได้
· มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปีนี้ โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวจะอยู่ที่ 7.5%YOY สอดคล้องกับอุปสงค์ในตลาดโลกและประเทศคู่ค้าหลักที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจทูน่ากระป๋องในระยะต่อไปมาจากความต้องการในตลาดเกิดใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ กลุ่มตะวันออกกลาง, แอฟริกา, ลาตินอเมริกา รวมทั้งประเทศในกลุ่ม CLMV ซึ่งจะเข้ามาช่วยทดแทนความต้องการจากตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ที่เริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวแล้ว สำหรับแนวโน้มราคานำเข้าวัตถุดิบทูน่า (Skipjack) ซึ่งถือเป็นต้นทุนหลักของอุตสาหกรรมการผลิตทูน่ากระป๋องมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปีนี้ สอดคล้องกับอุปสงค์ในตลาดโลกที่ปรับตัวดีขึ้น และสถานการณ์ Inventory destocking ที่คาดว่าได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุด (Bottom out) ไปแล้ว
· มูลค่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าอัตราการเติบโตในปีหน้าจะอยู่ที่ 3.3%YOY จากแรงหนุนของความต้องการนำเข้ากุ้งในตลาดส่งออกสำคัญที่ทยอยฟื้นตัว ทั้งนี้หากพิจารณาเป็นรายกลุ่มสินค้าจะพบว่าการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งสามารถฟื้นตัวจากสถานการณ์ COVID-19 ได้เร็วกว่ากุ้งแปรรูป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งไปยังตลาดจีนที่เติบโตได้ดีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การส่งออกกุ้งในระยะต่อไปเริ่มกลับมามีความเสี่ยงด้านลบมากขึ้น จากภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจและการบริโภคในจีนที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการนำเข้ากุ้งจากไทยในปีหน้าได้
ประเด็นสำคัญและความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารทะเล ได้แก่
· ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2568 ยังคงเปราะบางและมีความเสี่ยงสูง จากปัจจัยเสี่ยงรอบด้านที่กดดันแนวโน้มการฟื้นตัว รวมถึงปัญหา Geopolitics ที่คาดว่าจะยังคงยืดเยื้อและอาจขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งปัจจัยลบเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอาหารทะเล
· มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-tariff barriers : NTB) โดยเฉพาะเทรนด์เรื่อง ESG การทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable fishing) และการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม (Fair labor practices) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการในธุรกิจจำเป็นต้องให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและลดอุปสรรคทางการค้า
การแข่งขันจากสินค้านวัตกรรมทางเลือกใหม่ ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภท Plant-based seafood ที่มีการวิจัยและพัฒนาออกมาอย่างหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์และหันมานิยมบริโภคโปรตีนทางเลือกจากพืชมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
นโยบายการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร (Food security) ของคู่ค้าหลักอย่างจีน ส่งผลให้จีนมีแนวโน้มทยอยลดการนำเข้าและพึ่งพาการผลิตภายในประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงสินค้าประมงอย่างกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง
จากความท้าทายดังกล่าวข้างต้น SCB EIC มองว่า ผู้ประกอบการไทยควรเร่งปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตของตนให้สอดรับกับกฎระเบียบและมาตรฐานสากลโดยเฉพาอย่างยิ่งประเด็นด้าน ESG เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และลดอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่มีความหลากหลายและแปลกใหม่ ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ รวมไปถึงการหาแนวทางสร้างมูลค่าเพิ่มจาก By-product ในกระบวนการผลิต พร้อม ๆ ไปกับการมองหาตลาดส่งออกสินค้าประมงใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและหลีกหนีการแข่งขันในตลาดส่งออกเดิม