SCB EIC ชี้ส่งออก มี.ค. ปี 68 โตสูงสุดในรอบ 3 ปี แต่ส่งออกทั้งปีเสี่ยงหดตัวจากสงครามการค้า

ส่งออกสินค้าไทยเดือน มี.ค. 68  โต 17.8% เร่งตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี อยู่ที่ 29,548.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าที่คาดไว้บ้าง (SCB EIC ประเมินไว้ 14.7% และค่ากลาง Reuters Poll 13.5%) ส่งออกไทยเดือนนี้ขยายตัวสูงต่อเนื่องจาก 14% และ 13.6% ในเดือน ก.พ. และ ม.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาพรวมมูลค่าส่งออกไทยช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัว 15.2%

SCB EIC ประเมินส่งออกไทยเดือนนี้ได้รับอานิสงส์จากการเร่งผลิตและส่งออกก่อนสหรัฐฯ ประกาศภาษีตอบโต้ และปัจจัยวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้นเป็นสำคัญ สะท้อนจาก (1) การส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวมากถึง 34.3% เร่งตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี 3 เดือน โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวถึง 107.2% และ 44.4% ตามลำดับ (2) การส่งออกไปจีนขยายตัวดี 22.2% ต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลางและขั้นต้น เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม  (3) การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวดี เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์โต 80.2% ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ 94.6% และแผงวงจรไฟฟ้า 41.5%

ทองคำยังเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกที่สำคัญในเดือน มี.ค. 2025 แรงส่งจากประเด็นพิเศษทองคำที่เห็นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเริ่มหมดลง โดยการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปยังคงขยายตัวสูงมากถึง 269.5% เร่งขึ้นจาก 26.1% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะตลาดสวิตเซอร์แลนด์ (1,090.5%) กัมพูชา (60.5%) ฮ่องกง (195.0%) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (100%) ซึ่งเป็นผลจากความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา สำหรับแรงส่งจากการส่งออกสินค้ากลุ่มโลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่าเกือบทั้งหมดเป็นการส่งออกทองคำในรูปของทองคำผสมแพลทินัมในสัดส่วนน้อยไปยังตลาดอินเดียเพื่อประโยชน์ทางภาษีของผู้นำเข้าอินเดีย[1] นั้นเริ่มมีสัญญาณใกล้หมดลง โดยมีมูลค่าเพียง 202.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัว 1,022.6%) ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 1,269.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัว 4,159.6%) อย่างชัดเจน และปัจจัยพิเศษนี้มีแนวโน้มจะสิ้นสุด เนื่องจากทางการอินเดียได้ทำการย้ายสินค้าโลหะผสมแพลตตินัมออกจากประเภทสินค้านำเข้าปลอดภาษีแล้วในต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา แต่ยังคงยกเว้นการนำเข้าโลหะผสมแพลตตินัมบริสุทธิ์ 99% 

ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกทองคำและสินค้ากลุ่มโลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ นี้ มีส่วนช่วยให้การส่งออกไทยในภาพรวมของเดือนนี้เติบโต (Contribution to Growth) ได้ถึง 5.4% จากอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดที่ 17.8%

ส่งออก มี.ค. ได้แรงขับเคลื่อนจากสินค้าอุตสาหกรรม ขณะที่สินค้าหมวดหลักอื่นหดตัว หากพิจารณารายตลาด พบว่า ตลาดส่งออกสำคัญของไทยเดือน มี.ค. ขยายตัวเกือบทุกตลาด ยกเว้นออสเตรเลียที่หดตัว -10.3% โดยหดตัวติดต่อกัน 6 เดือน ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และ 2 ของไทย ขยายตัวดี 34.3% และ 22.2% ตามลำดับ

หากพิจารณาแหล่งที่มาของการส่งออกรายตลาด พบว่า ในเดือน มี.ค. การส่งออกไปสหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ และจีน เป็นแหล่งที่มาของการขยายตัวสูง 6.3%, 2.7% และ 2.5% ตามลำดับ

 โดยสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ขยายตัวดี ได้แก่ สินค้าหมวดอิเล็กโทรนิกส์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขณะที่สินค้าส่งออกไป สวิตเซอร์แลนด์ที่ขยายตัวดี ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เช่น ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป สำหรับสินค้าส่งออกไปจีนที่ขยายตัวดีค่อนข้างกระจายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง น้ำมันสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม

นำเข้าเดือน มี.ค. 2025 ขยายตัวสูงกว่าคาด โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค

มูลค่าการนำเข้าสินค้าเดือน มี.ค. อยู่ที่ 28,575.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.2% สูงกว่าที่ประเมินไว้ (SCB EIC ประเมิน 4.9% และค่ากลาง Reuters Poll 6.1%) เร่งขึ้นจาก 4.0% ในเดือนก่อน และนำเข้าโตต่อเนื่องมานาน 9 เดือนแล้ว ทั้งนี้การนำเข้าไม่รวมทองคำขยายตัวสูง 8.1% จากที่เคยหดตัว -0.5% ในเดือนก่อน โดยการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (รวมทองคำ) และสินค้าเชื้อเพลิงขยายตัว 19.0%, 15.8%, 9.5% และ 2.2% ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง รวมถึงอาวุธและยุทธปัจจัยหดตัว -2.6% และ -2.2% ตามลำดับ ข้อมูลดุลการค้าไทย (ระบบศุลกากร) ในเดือน มี.ค. เกินดุล 973.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2025 ดุลการค้าไทยเกินดุลสะสม 1,081 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

SCB EIC ประเมินว่ามูลค่าส่งออกไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 จะขยายตัวดี โดยตัวเลขมูลค่าการส่งออกไตรมาส 1 ขยายตัวมากถึง 15.2% ขณะที่ไตรมาส 2 จะชะลอตัวลงมาก เพราะหลายแรงส่งสำคัญจะแผ่วลง โดยเฉพาะการเร่งสั่งซื้อของคู่ค้าก่อนนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ จะเริ่มมีผล อานิสงส์วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น และปัจจัยการส่งออกทองคำ รวมถึงปัจจัยการส่งออกทองคำผสมโลหะอื่นไปอินเดีย นอกจากนี้ การส่งออกช่วงปลายไตรมาส 2 จะเริ่มได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ดังนั้น จึงประเมินว่าการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีจะเผชิญปัจจัยกดดันและความไม่แน่นอนที่รุนแรงมากขึ้น มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวรุนแรง โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้าย ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีเสี่ยงหดตัว -0.4% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.6% (ตัวเลขระบบดุลการชำระเงิน, มุมมอง ณ มี.ค. 2025)

อย่างไรก็ตาม SCB EIC มีกำหนดจะเผยแพร่บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำเดือน รวมถึงมุมมองประมาณการเศรษฐกิจล่าสุด หลังทรัมป์ประกาศชะลอการเก็บภาษีตอบโต้ออกไป 90 วันในช่วงสัปดาห์นี้

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles