SCB EIC ชี้ ส่งออก พ.ย. แรงยังดี สงครามการค้ารอบใหม่จะกระทบส่งออกไทยครึ่งหลังปี 2025

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC เปิดเผยบทวิเคราะห์ เรื่อง ส่งออก พ.ย. แรงยังดี โดยระบุว่า สงครามการค้ารอบใหม่จะกระทบส่งออกไทยครึ่งหลังปี 2025 โดยมูลค่าส่งออกสินค้าไทยเดือน พ.ย. 2024 อยู่ที่ 25,608.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.2%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน)ขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง สูงกว่าคาดการณ์ (SCB EIC ประเมินไว้ 6.5%) หากไม่รวมทองคำจะยังขยายตัวได้ 6.4% ภาพรวมมูลค่าการส่งออกไทย 11 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 275,767 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.1% (ตัวเลขระบบศุลกากร)

ภาพรวมการส่งออกไทยเดือน พ.ย. ขยายตัวดีต่อเนื่อง แม้หดตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนแบบปรับฤดูกาล -0.5%MOM_SA ผลจาก (1) อานิสงส์วัฏจักรขาขึ้นของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยให้การส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ขยายตัวสูงสองหลักติดต่อกัน (สินค้ากลุ่มนี้มีส่วนทำให้มูลค่าการส่งออกเดือนนี้เพิ่มขึ้นมากถึง 2.5%) (2) ส่งออกทองคำขยายตัวสูง (ทองคำมีส่วนทำให้มูลค่าการส่งออกเดือนนี้เพิ่มขึ้น 2.2%) ผลจากราคาทองคำอยู่ในระดับสูง และความต้องการสะสมทองคำเพื่อรองรับจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น และ (3) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตบางชนิดเริ่มกลับมาขยายตัว เช่น รถยนต์และส่วนประกอบกลับมาขยายตัว 4.8% หลังหดตัวนาน 3-4 เดือนก่อน

ส่งออกเดือน พ.ย. ได้แรงขับเคลื่อนจากทุกหมวด ยกเว้นแร่และเชื้อเพลิง
หากพิจารณารายหมวด พบว่า (1) สินค้าอุตสาหกรรมเติบโต 9.5% ชะลอลงเทียบ 18.6% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะทองคำยังไม่ขึ้นรูป เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องปรับอากาศ และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่เหล็ก เครื่องยนต์สันดาป และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอดเป็นสินค้าหลักที่หดตัว (2) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง 7.7% ใกล้เคียงเดือนก่อน โดยอาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และเครื่องดื่ม ยังขยายตัวดี ขณะที่ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์และน้ำตาลทรายเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว (3) สินค้าเกษตรขยายตัวชะลอลงเหลือ 4.1% จาก 6.8% ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกัน โดยเฉพาะผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และยางพารา ขณะที่ข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว และ (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงยังคงหดตัว -7.1% แม้จะหดตัวน้อยลงเทียบ -22.2% ในเดือนก่อน ตามการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปที่หดตัวถึง -16.3%

ส่งออกไปจีนขยายตัวดี ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญส่วนมากชะลอตัว
หากพิจารณารายตลาดหลัก พบว่า (1) ตลาดจีน ขยายตัว 16.9% มากกว่าเดือนก่อนสองเท่า โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์ ที่ขยายตัว 126.8%, 94.6% และ 59.9% ตามลำดับ (2) ตลาดสหรัฐฯ ชะลอลงเหลือ 9.5% จาก 25.3% ในเดือนก่อน โดยมีเพียง 12 ใน 15 สินค้าส่งออกสำคัญที่ยังขยายตัว (เทียบ 14 ใน 15 รายการที่ขยายตัวได้ในเดือนก่อน) โดยเฉพาะเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่หดตัว -13.5% นับเป็นการหดตัวครั้งแรกภายในปีนี้ (3) ตลาดยุโรป ชะลอตัวลงเหลือ 11.2% จาก 27.3% ในเดือนก่อน นำโดยรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่พลิกกลับมาหดตัว -37.2% ขณะที่แผงวงจรไฟฟ้าหดตัวต่อเนื่องทั้งปี (4) ตลาดญี่ปุ่น พลิกกลับมาหดตัว -3.7% โดยกว่าครึ่ง 8 ใน 15 สินค้าส่งออกสำคัญไปตลาดญี่ปุ่นหดตัว (5) ตลาดสวิตเซอร์แลนด์ ชะลอตัวมากเหลือ 28.7% จาก 127.1% ในเดือนก่อน สาเหตุหลักจากการส่งออกทองคำเติบโตชะลอลง เหลือเพียง 63.1% จาก 164.4% และ (6) ตลาด CLMV ชะลอตัวลงเล็กน้อยเหลือ 21.0% จาก 27.9% เนื่องจากการส่งออกไปกัมพูชาชะลอลงบ้าง ขณะที่การส่งออกไปเวียดนาม เมียนมา และ สปป.ลาว ยังขยายตัวต่อเนื่อง

ดุลการค้ากลับมาขาดดุล หลังเกินดุลมา 3 เดือนติดต่อกัน
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไทยเดือน พ.ย. อยู่ที่ 25,832.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชะลอตัวเหลือ 0.9% เทียบ 15.9% เดือนก่อน การนำเข้าไทยขยายตัวติดต่อกัน 6 เดือน โดยการนำเข้าอาวุธและยุทธปัจจัยกลับมาขยายตัว 16.1% จากที่หดตัวแรง -13.2% ในเดือนก่อน นอกจากนี้ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงขยายตัวต่อเนื่อง 14.0% และ 8.9% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สินค้าเชื้อเพลิง และสินค้าทุนหดตัว -25.3% -21.1% และ -1.5% ตามลำดับ ดุลการค้าระบบศุลกากรเดือน พ.ย. ขาดดุล -224.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2024 ดุลการค้าไทยขาดดุล -6,269.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตัวเลขระบบศุลกากร)

SCB EIC มองทั้งปี 2024 ส่งออกไทยอาจโตสูงเกิน 4% หากตัวเลขเดือน ธ.ค. ดีต่อเนื่อง
SCB EIC มองว่ามูลค่าการส่งออกไทยขยายตัวสูงต่อเนื่องช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งปี 2024 มีโอกาสขยายตัวสูงกว่า 4% แม้ที่ผ่านมาส่งออกไทยจะเผชิญอุปสรรคตั้งแต่ต้นปีจากเศรษฐกิจโลกที่คาดการณ์ว่าจะชะลอลงและอุปสรรคการขนส่งทางเรือในโลกหลายที่ แต่ส่งออกไทยกลับได้แรงหนุนจากหลายปัจจัยบวกที่ชัดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี เช่น เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว Soft landing ได้ การส่งออกทองคำสูงขึ้นมาก อานิสงส์วัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุปสงค์ต่างประเทศเริ่มเร่งตัวจากความกังวลประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่อาจเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มในปี 2025 ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทย 11 เดือนขยายตัวมากถึง 5.2% จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ตัวเลขการส่งออกของไทยทั้งปีอาจจะออกมาขยายตัวเกิน 4% สูงกว่าที่ SCB EIC และกระทรวงพาณิชย์ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ที่ 3.9% และ 4% ตามลำดับ

ส่งออกไทยปี 2025 อาจไม่ง่าย ผลกระทบสงครามการค้าจะเริ่มเห็นชัดขึ้นครึ่งหลังปี 2025
แม้ส่งออกดูจะขยายตัวดีในช่วงท้ายปี 2024 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไปช่วงต้นปี 2025 SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกของไทยระยะต่อไปจะเริ่มเจอแรงกดดันจากนโยบายกีดกันการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปี 2025 ที่มาตรการกีดกันการค้าประเทศต่าง ๆ นอกจากจีนจะเริ่มมีผลบังคับใช้ โดยประเมินว่าประเทศไทยเสี่ยงสูงที่จะเจอนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าจาก Trump 2.0 เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบผ่านช่องทางการค้าเป็นหลัก สะท้อนจาก

สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยมากขึ้นเทียบช่วงทรัมป์ 1.0 : แม้สหรัฐฯ จะขาดดุลการค้ากับไทยมานานต่อเนื่อง แต่การขาดดุลยิ่งสูงขึ้นก้าวกระโดดนับตั้งแต่ปี 2021 โดยมูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯกับไทยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก -2.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2017-2020 (Trump 1.0) เป็น -4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023 ซึ่งไทยจัดเป็นประเทศเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อันดับ 12 จาก 99 ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ในปี 2023

หลายงานศึกษาประเมินว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจาก Trump 2.0 มาก สะท้อนจาก Trump Risk Index สูง และอาจติดเกณฑ์ประเทศเข้าข่าย “Unfair Trade” กับสหรัฐฯ : จากผลศึกษาของ Information Technology and Innovation Foundation (ITIF) พบว่าประเทศไทยมีคะแนน Trump Risk Index ติดอันดับ 2 ของโลก รองจากเม็กซิโก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชียจาก 38 ประเทศพันธมิตรทั้งหมดของสหรัฐฯ สอดคล้องกับผลศึกษา Unfair Trade ของ Global Trade Alert (Nov 2024) ที่พบว่า ประเทศไทยจะติด 3 ใน 5 เกณฑ์ หากพิจารณาเกณฑ์เดียวกับที่ Trump 1.0 เคยใช้มาก่อน โดยไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ที่จะติดเกณฑ์นี้
สินค้าส่งออกสำคัญของไทยมีความเสี่ยงถูกตั้งกำแพงภาษีจากนโยบาย Trump 2.0 : SCB EIC ประเมินว่ากว่า 70% ของสินค้าส่งออกหลักของไทยเป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้ากับโลก และต้องการส่งเสริม Local supply chain อาทิ สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์

ทั้งนี้นโยบายจาก Trump 2.0 มีแนวโน้มจะกระทบภาคส่งออกไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม
ผลกระทบทางตรง (Direct impacts) : สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย (17% ของมูลค่าส่งออกไทยทั้งหมด) และไทยยังสร้างมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ค่อนข้างสูง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกไทยโดยตรง จากนโยบายภาษีสินค้านำเข้า Trump 2.0 อย่างไรก็ดี ผลกระทบอาจจำกัดในบางกลุ่มสินค้า เนื่องจากสหรัฐฯ ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าบางชนิดจากไทย เนื่องจากผลิตในประเทศไม่พอความต้องการ

ผลกระทบทางอ้อม (Indirect impacts) : ความต้องการสินค้าขั้นกลางที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อผลิตเป็นสินค้าขั้นปลายอาจชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขั้นปลายที่จีนส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และปัญหาจีนผลิตล้นตลาด (China’s overcapacity) มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนจะกดดันความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทย ทั้งตลาดในและนอกประเทศ ส่งผลให้การส่งออกไทยเริ่มชะลอตัว ซ้ำเติมภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัว

ปี 2025 อาจไม่ง่ายสำหรับภาคส่งออกไทย จากแรงกดดันภายนอกประเทศที่ท้าทายขึ้น โดย SCB EIC ประเมินว่ามูลค่าส่งออกสินค้าไทยจะขยายตัวได้ราว 2% (ตัวเลขระบบดุลการชำระเงิน) ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งเทียบการเติบโตของการส่งออกในปี 2024 ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมแนวทางเจรจา/ต่อรองกับสหรัฐฯ เพื่อหาวิธีลดความเสี่ยงต่อนโยบายภาษีนำเข้า Trump 2.0 ในช่วงปี 2025 โดยเฉพาะประเด็นการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคส่งออกไทยตั้งแต่ก่อนสงครามการค้ารอบใหม่จะเริ่มมีผลชัดเจนขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles