ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค SCB EIC เปิดเผยว่า จากผลการประชุม กนง. วันที่ 30 เม.ย. 2568 ที่มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.00% ต่อปี เป็น 1.75% ต่อปี สะท้อนว่า กนง. เริ่มมีมุมมองเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับภาคเอกชนมากขึ้น โดยเริ่มมองเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวลดลงจากมุมมองเดิมหลังสหรัฐฯ ประกาศนโยบายภาษีนำเข้า และ กนง. ได้ประเมินมุมมองเศรษฐกิจไทยออกมาเป็นฉากทัศน์อ้างอิง (Reference Scenario) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.0% ในปีนี้ และ 1.8% ในปี 2569 และฉากทัศน์ทางเลือก (Alternative Scenario) ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเหลือ 1.3% ในปีนี้ และ 1.0% ในปี 2569 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยไม่เพียงแต่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงปี 2569 ด้วย นอกจากนี้ กนง. ยังกล่าวถึงภาวะการเงินที่ยังคงตึงตัว ดูจากสินเชื่อที่หดตัวและ NPL ที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ มุมมองต่อเศรษฐกิจของ SCB EIC และ กนง. ไปในทิศทางเดียวกัน โดยมุมมองล่าสุด SCB EIC ณ เดือน เม.ย. มองว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวเหลือ 1.5% ในกรณีฐาน บนสมมติฐานที่ว่า ไทยจะต่อรองลดภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) จากสหรัฐฯ ได้แค่ครึ่งเดียว ถึงแม้สหรัฐฯ จะชะลอการจัดเก็บภาษีตอบโต้ออกไปชั่วคราว 90 วัน ผลกดดันต่อการส่งออกไทยจะเริ่มเห็นในช่วงครึ่งหลัง แต่สำหรับความเชื่อมั่นในการลงทุนของธุรกิจไทยน่าจะถูกกระทบตั้งแต่ไตรมาส 2 นี้แล้ว ผลจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ทำให้มองว่าการลงทุนเอกชนปีนี้จะยังไม่ฟื้นจากที่เคยหดตัวในปีที่แล้ว ภาคการท่องเที่ยวเองก็อาจจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไม่มากอย่างที่เคยคาดไว้ หากดูทิศทางเศรษฐกิจรายไตรมาสจะเห็นว่า ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำลงเรื่อยๆ จากไตรมาสแรกที่จะยังเห็นเติบโตได้ 3% ไตรมาส 2 จะขยายตัวลดลงเหลือ 2.2% และลดลงเหลือเพียง 0.7% ในไตรมาสที่ 3 และ 0.3% ในไตรมาสที่ 4
SCB EIC จึงยังคงมุมมองต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยตามเดิม โดยมองว่า จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 อย่างละ 1 ครั้ง เนื่องจากมีแนวโน้มค่อนข้างสูงที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตต่ำไม่ถึง 2% ต่อเนื่องไปปีหน้า และความไม่แน่นอนยังสูงมาก หลังจากนี้คงต้องอยู่ที่ภาครัฐว่าจะเจรจาต่อรองลดภาษีสหรัฐฯ ได้แค่ไหน ภาคธุรกิจและประชาชนจะเตรียมปรับตัวจากสถานการณ์ข้างหน้าที่มองเห็นแบบนี้อย่างไร ซึ่งอัตราดอกเบี้ยก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยผ่อนคลายความตึงตัวของภาระทางการเงินลูกหนี้และช่วยดูแลเศรษฐกิจได้ ส่วนภาครัฐอาจอยู่ระหว่างเตรียมมาตรการอื่นเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจอีกทาง
นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส SCB Financial Markets ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ผลการประชุม กนง. ที่ออกมาถือว่าเป็นไปตามที่ตลาดคาด ทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย 2 ปี และ 10 ปี ทรงตัว ส่วนประเด็นที่ Moody’s ปรับลดมุมมองที่มีต่อไทยนั้น เนื่องจากเป็นเพียงการปรับมุมมอง แต่ยังไม่ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือ และอันดับความน่าเชื่อถือของไทยยังอยู่ในระดับสูงกว่าอันดับเครดิตขั้นต่ำของระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) ดังนั้น แม้จะถูกปรับลดลงในอนาคต ก็ยังอยู่ในระดับ Investment Grade จึงยังไม่เห็นความเสี่ยงของการเทขายพันธบัตรรัฐบาลไทยออกมา
ทั้งนี้ เราประเมินว่า ในระยะสั้น ไตรมาสที่ 2 ค่าเงินบาทมีโอกาสกลับไปอ่อนค่าได้ โดยอยู่ในกรอบ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้า ที่สหรัฐฯ อาจกลับมาขึ้นภาษีตอบโต้บางส่วน หลังผ่านช่วงเวลา 90 วัน ที่ชะลอการเก็บภาษีชั่วคราว ซึ่งจะทำให้เงินเอเชีย รวมถึงเงินบาทอาจอ่อนค่า โดยที่ธนาคารกลางต่างๆ อาจยอมให้ค่าเงินอ่อนค่าเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้า ขณะที่ ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐ อาจกลับมาแข็งค่าบ้าง นอกจากนี้ยังมาจาก เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง กนง. มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อในปีนี้ รวมทั้งเป็นผลจากในช่วงไตรมาส 2 เป็นช่วงที่บริษัทข้ามชาติจะส่งเงินกลับไปยังบริษัทแม่ในต่างประเทศ (Dividend payout) รวมถึงฤดูกาลท่องเที่ยวที่หมดลง
สำหรับระยะยาว คาดว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้ โดยมอบกรอบการเคลื่อนไหวที่ 32.50-33.50 บาท ในช่วงสิ้นปี 2568 เป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากการที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ ลดลง มีการนำเงินออกจากสินทรัพย์สหรัฐฯ ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ขณะที่สกุลเงินหลักอื่น เช่น เงินยูโร เยน และสวิสฟรังก์ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินยูโร มีแนวโน้มแข็งค่า จากเงินทุนไหลกลับเข้ายุโรป ส่วนเงินเยน อาจแข็งค่าขึ้นต่อตามการขึ้นดอกเบี้ยและกลุ่มประกันที่นำเงินกลับเข้าญี่ปุ่น
นายสิทธิชัย ดวงรัตนฉายา หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า โดยปกติตลาดหุ้นไทยจะตอบสนองได้ดีกับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเราคาดว่า อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงไป 0.25% จะให้ประโยชน์ 1.3% ของกำไรต่อหุ้น (EPS) ทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณ 20-25 จุดของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะตลาดหมี ดังนั้น จึงอาจปรับขึ้นได้ในช่วงสั้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีอัตราการเติบโตที่ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับในภูมิภาค ในส่วนของกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ กลุ่มอาหาร ท่องเที่ยว โรงไฟฟ้า ค้าปลีก และขนส่ง
ส่วนกรณีการปรับลดมุมมองเครดิตของไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ และคาดว่าจะไม่มีผลกระทบระยะยาว โดยในปี 2565 ไทยก็เคยถูกปรับลดเครดิตของกลุ่มธนาคารมาแล้ว เพียงแต่ในครั้งนี้เป็นการปรับลดมุมมองเครดิตทั้งหมด สะท้อนถึงมุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคตที่ชะลอตัวลง อัตราส่วนหนี้รัฐบาลต่อ GDP และอัตราส่วนหนี้รัฐบาลต่อรายได้ ปรับเพิ่มขึ้นเกินกว่าระดับที่เคยมีอยู่ ขณะที่ ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยเรื่องการเปิดให้ลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (Thai EGSX) ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. นี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นไทย ช่วยชะลอแรงขายหุ้นไทยได้