ttb analytics ระบุว่า หากย้อนไปในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด เฉลี่ยถึงปีละ 7-8% จากอานิสงส์การลงทุนที่มาจากต่างประเทศ รวมไปถึงการลงทุนด้านการวางโครงสร้างพื้นฐาน และพลังงานของประเทศ แต่แรงขับเคลื่อนดังกล่าวนี้ กลับแผ่วลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวชะลอลงหลังผ่านพ้นวิกฤตมาหลายระลอก จนทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจ (Potential GDP) ในระยะยาว จากที่เคยโตได้ในระดับ 3-4% ก่อนสถานการณ์โควิด-19 อาจลดลงเหลือไม่ถึง 2-3% ต่อปีเท่านั้น
ทั้งนี้ การลงทุนรวมของไทยลดลงอย่างรวดเร็ว สวนทางกับการบริโภคภาคเอกชนที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจมากขึ้น โดยที่ผ่านมา การบริโภคภาคเอกชน สามารถรักษาระดับการเติบโตได้ดีมาตลอดเฉลี่ย 3.1% เทียบกับการลงทุนรวมที่ขยายตัวเพียง 0.7% (CAGR ปี 2540-2566) ส่วนหนึ่งจากผลของนโยบายกระตุ้นการบริโภคที่เข้ามาประคองเศรษฐกิจในแต่ละช่วง ส่งผลให้สัดส่วนการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจาก 52% ต่อ GDP ในปี 2550 เป็น 60% ของ GDP ในปี 2566 และทำให้ขนาดของมูลค่าการบริโภคภาคเอกชนในปัจจุบัน ใหญ่กว่าการลงทุนรวม (ภาครัฐและภาคเอกชน) ถึง 2.4 เท่า
โดย ttb analytics ตั้งข้อสังเกตว่า การลงทุนรวมของไทยอยู่ในระดับต่ำเกินไป (Under Investment) ซึ่งมีส่วนทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลง โดยมูลค่าการลงทุนรวมในปี 2566 อยู่ที่ 2.64 ล้านล้านบาท ซึ่งยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2539 (อยู่ที่ 2.75 ล้านล้านบาท) โดยสัดส่วนการลงทุนรวมของไทยลดลงอย่างรวดเร็ว หลังผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งจาก 51% ต่อ GDP ในปี 2539 เหลือเพียง 25% ของ GDP ในปี 2541 และทรงตัวที่ระดับนี้มาจนปัจจุบัน ทำให้การลงทุนของไทยค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันอย่างประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซียที่อยู่ที่ 33% และ 30% ต่อ GDP
หากพิจารณามูลค่าการลงทุนของไทยเป็น 2 มิติ ได้แก่
1. มิติการลงทุนภาครัฐ โดยงบประมาณรายจ่ายของรัฐที่จัดสรรเพื่อการลงทุนคิดเป็นเพียง 1 ใน 4 ของงบประมาณที่จัดสรรในแต่ละปี แม้วงเงินงบประมาณแต่ละปีจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.6% (CAGR ปีงบประมาณ 2549-2567) แต่เมื่อมองย้อนกลับมาที่งบรายจ่ายประจำ ที่ขยายตัวสูงถึง 5.1% แต่งบรายจ่ายเพื่อการลงทุนกลับขยายตัวได้เพียงปีละ 3.0% อีกทั้งก้อนของเม็ดเงินลงทุนภาครัฐส่วนใหญ่ ใช้เพื่อการซ่อมสร้างด้านสาธารณูปโภคและถนน โดยพบว่า 77% ของงบลงทุนทั้งหมดในปีงบประมาณ 2566 เป็นงบเพื่อการซ่อมสร้างถนนทางหลวง และทางหลวงชนบท การรถไฟ รวมถึงโครงการชลประทาน ซึ่งด้วยข้อจำกัดของขนาดงบลงทุน ทำให้ภาครัฐมักใช้งบบูรณาการผ่านโครงการการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ (PPP) หรือการจัดสรรงบประมาณให้กับส่วนราชการเข้าไปลงทุนร่วมกับเอกชน เพื่อผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในระยะหลัง
2. มิติการลงทุนภาคเอกชน โดยการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยเติบโตได้เฉลี่ย 6.2% ในช่วงปี 2547-2555 เหลือเพียง 1% ในช่วงปี 2556-2566 ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่บางส่วน ก็หันไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้น ทำให้เม็ดเงินการลงทุนโดยตรงสุทธิที่ออกไปนอกประเทศ (TDI Netflow) ในแต่ละปีสูงถึง 3-6 แสนล้านบาท ในทางกลับกัน เม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างชาติ (FDI) ก็มีทิศทางลดลงต่อเนื่อง และต่ำกว่าคู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย และเวียดนาม
ttb analytics ประเมินว่า หากต้องการผลักดันให้ไทยสามารถรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 3-4% ต่อปี จำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนให้ได้ 35-40% ต่อ GDP (ปี 2566 อยู่ที่ 24.4% ต่อ GDP) ผ่าน 4 ข้อเสนอแนะ ได้แก่
1. เพิ่มการลงทุนขนาดใหญ่ที่มาจากภาครัฐ แม้สัดส่วนการลงทุนภาครัฐจะอยู่ที่ 25% ของมูลค่าการลงทุนรวม แต่การขาดการลงทุนขนาดใหญ่จากภาครัฐเป็นเวลานาน ส่งผลให้การดึงดูดให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชน (Crowding-in Effect) มีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย เห็นได้จากความคืบหน้าในโครงการต่าง ๆ ภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่หยุดชะงักลงในระยะหลัง ส่งผลให้สัดส่วนมูลค่าการลงทุนภาคเอกชนหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง
2. เน้นส่งเสริมการลงทุนด้านดิจิทัล จากการศึกษาของธนาคารโลก สะท้อนว่า ไทยมีระดับของการบริการด้านนวัตกร (Innovator Service) หรือการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม เมื่อเทียบระหว่างมูลค่าการส่งออกที่ค่อนข้างต่ำกับระดับรายได้ต่อหัว สอดคล้องกับการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลทั่วโลกในปี 2566 ที่ระบุชัดว่า ประเทศไทยมีขีดความสามารถด้านดิจิทัลในระดับกลางเท่านั้นเมื่อเปรียบเทียบกับทั่วโลก และเป็นอันดับ 3 ของกลุ่มอาเซียน (รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย) โดยจุดอ่อนสำคัญของไทย คือ ข้อจำกัดด้านเงินลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล ด้านการวิจัยและพัฒนาไปสู่นวัตกรรมสินค้าและบริการด้านดิจิทัล รวมถึงด้านการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา
3. เพิ่มนโยบายสนับสนุนการลงทุนของผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่เพียงพอดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ที่ผ่านมา ภาครัฐให้ความสำคัญกับการอัดฉีดนโยบายเพื่อกระตุ้นการบริโภคเป็นหลัก ส่งผลให้พื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ที่จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นเหลือน้อยลง ขณะที่มาตรการส่งเสริมด้านการลงทุนของผู้ประกอบการในประเทศยังค่อนข้างน้อย รวมถึงยังมีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ก็มีส่วนทำให้ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบาย ความล่าช้าที่อาจเกิดขึ้นในการปฏิรูปแผนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขณะเดียวกันข้อจำกัดของการออกมาลงทุนนอกประเทศของบริษัทข้ามชาติ ก็เพิ่มขึ้นจากการยกระดับมาตรการควบคุมการไหลออกของเงินทุนของประเทศหลัก ซึ่งล้วนแต่บั่นทอนความน่าสนใจการลงทุนจากต่างชาติในระยะยาว
4. เพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย จากข้อมูลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) ในปี 2566 พบว่า ปัจจัยด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพ (Efficiency and Productivity) ของไทยต่ำกว่าไต้หวัน จีน และมาเลเซีย สอดคล้องกับผลผลิตแรงงานต่อชั่วโมง (Output per Hour) ซึ่งสะท้อนประสิทธิภาพในการทำงานของแรงงานไทยต่ำกว่ามาเลเซียเกือบ 2 เท่า (ไทยอยู่ที่ประมาณ 15.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง มาเลเซีย 24.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง) อีกทั้งผลผลิตแรงงานต่อชั่วโมงในระยะหลังเติบโตได้เพียงปีละ 1% จากที่เคยเติบโต 3.6% (ในช่วงปี 2542-2550)