สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประสานความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เข้าตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ได้รับอนุญาต ที่ชักชวนประชาชนให้ใช้บริการ จากการออกบูธในงานแสดงเทคโนโลยีทางการเงิน
วันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา น.ส.จอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ตามที่ ก.ล.ต. ได้ติดตามและสังเกตการณ์การจัดงานนิทรรศการ หรืองาน Event รวมถึงได้รับแจ้งเบาะแสจากประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง พบผู้ประกอบธุรกิจด้านหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวจากต่างประเทศ เข้ามาชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุนหรือใช้บริการ โดยการออกบูธในงานแสดงเทคโนโลยีทางการเงิน ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ประสานงานกับผู้ที่เป็นเจ้าของสถานที่ และผู้จัดงานให้ทราบถึงข้อกังวลของ ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่วงหน้าก่อนวันงานแล้วนั้น
วันนี้ ก.ล.ต. ได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์ พบการปฏิบัติงานหรือกิจกรรมของผู้ออกบูธบางราย ที่มีความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจที่ไม่ได้รับอนุญาต จึงแจ้งผู้จัดงานดำเนินการระงับกิจกรรมของผู้ออกบูธที่มีลักษณะดังกล่าว แต่เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมืออย่างทันท่วงที ดังนั้น ก.ล.ต. จึงประสาน บก.ปอศ. เข้าตรวจสอบ ซึ่งมีผู้ประกอบธุรกิจที่อาจเข้าข่ายประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 10 บูธ
ทั้งนี้ ได้มีการเก็บหลักฐานเพิ่มเติม และหากมีการกระทำอันเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. อาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษทั้งจำคุกและปรับ และหากเข้าข่ายการกระทำที่อาจผิดกฎหมายอื่น ก.ล.ต. จะมีกระบวนการในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
น.ส.จอมขวัญ กล่าวว่า ก.ล.ต. ขอเตือนประชาชนและผู้ลงทุน ให้ระมัดระวังการใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจากต่างประเทศ เนื่องจากจะไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และยังมีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวง (scam) รวมทั้งขอเตือนผู้จัดงานที่ให้มีบูธแสดงในงาน ให้ระมัดระวังการเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ได้รับอนุญาตร่วมออกบูธ เนื่องจากอาจเข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดด้วย
“กรณีนี้ เป็นการประสานความร่วมมือของ ก.ล.ต. และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) โดย บก.ปอศ. ซึ่งเป็นไปตามนโยบายในการทำงานเชิงรุกร่วมกันของทั้ง 2 หน่วยงาน ในการตรวจสอบการกระทำผิดเกี่ยวกับตลาดทุน และตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว รัดกุม รวมถึงช่วยป้องกันและยับยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประชาชนและผู้ลงทุนได้” รองเลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุ