ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดรวม 14 ราย กรณีสร้างราคาหุ้นบริษัท เดอะ สตีล จำกัด (มหาชน) (THE) โดยเรียกให้ชำระเงินตามมาตรการลงโทษทางแพ่งรวม 275,874,196.83 บาท กำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติมพบผู้กระทำความผิด 14 ราย ได้แก่ (1) นายบุญชัย จิระพงษ์ตระกูล (2) นายบุญโชค ถิรธารากร (3) นายบุญเชิด สันทัดพานิช (4) นายสุวิทย์ จิระพงษ์ตระกูล (5) นางวรรณา สิทธิศิรินุกูล (6) นายธีรวัฒน์ แซ่ก๊วย (7) นายปรียธาดา บูรณวรคุณ (8) นายสุรเชษฐ์ บุญญาเสถียร (9) นายการุณ ธีรวรชัย (10) นายสิริชัย ชัยสุธรรมพร (11) นางสาวรัตนา จิระพงษ์ตระกูล (12) นายชาตรี อนันต์โรจน์วงศ์ (13) นางสาวกิตติกา วิศรุตนาถ และ (14) นายธนา สินธนาภัทร์ ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจ หรือมีความสัมพันธ์ส่วนบุคคลโดยตรงหรือผ่านการเชื่อมโยงกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยผู้กระทำผิดรายที่ 1- 12 ได้ร่วมกันส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นของ THE ในลักษณะที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์และส่งคำสั่งซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องกัน โดยมุ่งหมายให้ราคาหรือ ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ซึ่งได้รับการช่วยเหลือเกี่ยวกับการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์จากรายที่ 13 และ 14 ซึ่งเป็นผู้แนะนำการลงทุน โดยการกระทำดังกล่าวข้างต้นแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา ดังนี้
ช่วงเกิดเหตุที่ 1 ผู้กระทำความผิด รวม 11 ราย ได้แก่ นายบุญชัย นายบุญโชค นายบุญเชิด นายสุวิทย์ นางวรรณา นายธีรวัฒน์ นายปรียธาดา นายสุรเชษฐ์ นายการุณ และนายสิริชัย กรณีสร้างราคาและปริมาณระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน – 15 ธันวาคม 2558 โดยได้ร่วมกันกระทำการซึ่งมีผลทำให้ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 0.19 ล้านหุ้น เป็น 2.20 ล้านหุ้น และราคาปิดปรับตัวเพิ่มขึ้นจากหุ้นละ 4.40 บาท เป็น 10.40 บาท โดยมีนางสาวกิตติกา ให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการส่งคำสั่งของผู้กระทำความผิดรายนายการุณ
ช่วงเกิดเหตุที่ 2 ผู้กระทำความผิด รวม 12 ราย ได้แก่ นายบุญชัย นายบุญโชค นายบุญเชิด นางวรรณา นายธีรวัฒน์ นายปรียธาดา นายสุรเชษฐ์ นายสิริชัย นางสาวรัตนา และนายชาตรี กรณีสร้างราคาและปริมาณระหว่างวันที่ 4 มกราคม 2560 – 21 ธันวาคม 2561 โดยได้ร่วมกันกระทำการซึ่งมีผลทำให้ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 1.58 ล้านหุ้น เป็น 6.71 ล้านหุ้น ในขณะที่ราคาปิดปรับตัวลดลงจากหุ้นละ 4.60 บาท เป็น 1.74 บาท โดยมีนางสาวกิตติกา และนายธนา ให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการส่งคำสั่งของผู้กระทำความผิดรายนายปรียธาดา
ช่วงเกิดเหตุที่ 3 ผู้กระทำความผิดรวม 9 ราย ได้แก่ นายบุญชัย นายบุญโชค นายปรียธาดา นายสุรเชษฐ์ นายสิริชัย นางสาวรัตนา และนายชาตรี กรณีสร้างราคาและปริมาณหุ้นระหว่างวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 – 25 กุมภาพันธ์ 2563 โดยได้ร่วมกันกระทำการซึ่งมีผลทำให้ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 0.31 ล้านหุ้น เป็น 7.42 ล้านหุ้น และราคาปิดปรับตัวเพิ่มขึ้นจากหุ้นละ 1.71 บาท เป็น 1.89 บาท โดยมีนางสาวกิตติกา และนายธนา ให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการส่งคำสั่งของผู้กระทำความผิดรายนายปรียธาดา
การกระทำของบุคคลดังกล่าวข้างต้นเป็นความผิดตามมาตรา 243(1) ประกอบมาตรา 244(1) และมาตรา 243(2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 296 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และมาตรา 244/3(1)(2) ประกอบมาตรา 244/6(3)(6) แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 315 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 296 มาตรา 296/1 และมาตรา 296/2 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ แล้วแต่กรณี
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 14 ราย โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ดังนี้
ก. ให้ผู้กระทำความผิดชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดแล้วแต่กรณี ได้แก่ นายบุญชัย และนายบุญโชค จำนวนรายละ 42,847,521.95 บาท นายปรียธาดา จำนวน 28,254,489.95 บาท นางสาวรัตนา จำนวน 24,553,808 บาท นายสุรเชษฐ์ และนายสิริชัย จำนวนรายละ 19,452,029.95 บาท นายบุญเชิด นางวรรณา และนายธีรวัฒน์ จำนวนรายละ 18,919,992.95 บาท นายสุวิทย์ และนายการุณ จำนวนรายละ 18,293,713.95 บาท นายชาตรี จำนวน 2,469,423 บาท นางสาวกิตติกา จำนวน 1,491,649.33 บาท และนายธนา จำนวน 1,158,316 บาท
ข. ห้ามผู้กระทำความผิดซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ ดังนี้
– ห้ามผู้กระทำความผิดรายนายบุญชัย ซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลา 48 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลา 97 เดือน
– ห้ามผู้กระทำความผิดจำนวน 6 ราย ได้แก่ นายบุญโชค นายปรียธาดา นายสุรเชษฐ์ นายสิริชัย นางสาวรัตนา และนายชาตรี ซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลารายละ 36 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลารายละ 73 เดือน
– ห้ามผู้กระทำความผิดจำนวน 2 ราย ได้แก่ นางสาวกิตติกา และนายธนา ซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลารายละ 24 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลารายละ 48 เดือน และ
– ห้ามผู้กระทำความผิดจำนวน 3 ราย ได้แก่ นายบุญเชิด นางวรรณา และนายธีรวัฒน์ ซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลารายละ 14 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลารายละ 28 เดือน
นอกจากนี้ กรณีนายบุญชัย ในขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและ/หรือผู้บริหารของ THE และ ค.ม.พ. นำมาตรการลงโทษปรับทางแพ่งมาใช้บังคับในช่วงเกิดเหตุที่ 1 อันเป็นความผิดก่อนแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535 มีผลทำให้ความผิดของนายบุญชัยมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทตามประกาศ ก.ล.ต.* จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนเป็นเวลา 34 เดือนนับแต่วันที่ 26 เมษายน 2567
มาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนดตาม ข. จะมีผลเมื่อผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หรือเมื่อครบกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารตามคำสั่งของ ก.ล.ต. ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กจ. 3/2560** แล้วแต่กรณี หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง