ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. ในการประชุม ครั้งที่ 35/2567 (ครั้งที่ 920) เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 มีมติให้สำนักงาน กกพ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมกันศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อทบทวนและวางแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการวางหลักประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3 กิจการขนาดกลาง ประเภท 4 กิจการขนาดใหญ่ ประเภท 5 กิจการเฉพาะอย่างและอื่นๆโดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
“กกพ. ได้มีการเชิญการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้แก่ กฟน. และ กฟภ. มาให้ข้อมูลและให้ความเห็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ กกพ. มีข้อมูลที่เพียงพอประกอบการพิจารณาตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม ในกรณีที่ กกพ.
จะมีนโยบายทบทวนข้อกำหนดการวางหลักประกันการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนของผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การจำหน่ายกระแสไฟฟ้าของไทย มีรูปแบบเป็นการให้บริการไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้าก่อนแล้วจึงเรียกเก็บเงินภายหลัง ดังนั้น การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจึงมีการกำหนดให้มีการเรียกเก็บประกันการใช้ไฟฟ้า เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงของภาครัฐในกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ชำระค่าไฟฟ้า” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว
ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดจากการประชุม กกพ. มีความเห็นว่าข้อมูลที่ได้รับยังไม่เพียงพอต่อการพิจารณาเพื่อตัดสินใจ จึงได้มอบหมายให้ สำนักงาน กกพ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายร่วมกันศึกษาข้อมูลหรือ Profile ในเชิงลึกของธุรกิจต่างๆ ที่เป็นลูกค้าทั้งหมด เพื่อวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและความเสี่ยงของธุรกิจแต่ละประเภท และนำเสนอ กกพ. เพื่อประกอบการพิจารณามูลค่าหลักประกันการใช้ไฟฟ้าต่อไป
เบื้องต้นจากข้อมูลที่ได้รับจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายพบว่า ปัจจุบัน กฟภ. มีหลักประกันการใช้ไฟฟ้าในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3 , 4 และ 5 ทั้งในรูปแบบเงินสด พันธบัตร และหนังสือค้ำประกันโดยธนาคาร (Bank Guarantee) มีมูลค่ารวมกันประมาณ 44,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนเป็นพันธบัตร และ Bank Guarantee กว่า 77%
สำหรับ กฟน. มีเงินประกันการใช้ไฟฟ้าในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3 , 4 และ 5 ประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินสด ประมาณ 30% และที่เหลือเป็น Bank Guarantee โดย กฟน. และ กฟภ. ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์จากเงินประกันการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3 , 4 และ 5 โดยได้ฝากหลักประกันที่เป็นเงินสดไว้กับธนาคารเพื่อกันเงินดังกล่าวไว้เพื่อรอคืนและชำระคืนดอกเบี้ยให้แก่ผู้วางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมยังได้ติดตามความคืบหน้าในการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย ซึ่งก่อนหน้านี้ กกพ. ได้มีมติให้คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็กทั้งหมด และได้รับรายงานแม้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายยังคงทยอยคืนเงินประกันอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมียอดเงินคงค้างที่ต้องชำระคืนอีกกว่าครึ่ง โดยการไฟฟ้าได้ชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ได้เร่งรัดการคืนเงินประกันผ่านการผ่อนปรนเงื่อนไขโดยให้ทายาทหรือผู้ใช้ไฟฟ้าปัจจุบันแสดงหลักฐานที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้วางเงินค้ำประกัน หรือหลักฐานการซื้อขายบ้านที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสิทธิสามารถขอรับเงินดังกล่าวคืนได้ ซึ่ง กกพ. รับทราบและขอให้มีการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมเพื่อเร่งรัดการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าต่อไป